สติปัฏฐาน 4 คืออะไร?
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือปุจฉาวิสัชชนา วิชาธรรมกาย หน้า 283
323. ว่ากันว่า การเดินวิชา 18 กาย เป็นการพิจารณาสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยอัตโนมัติ ใช่หรือเปล่าครับ ?
ถูกแล้ว !
กายก็คือกายต่าง ๆ เช่น 18 กายเป็นต้น
เวทนาในที่นี้หมายถึงอารมณ์ที่เกิดแก่ใจ ว่าทุกข์ สุข และไม่ทุกข์ ไม่สุข (คือกลาง ๆ จะว่าสุขก็ไม่ใช่ จะทุกข์ก้ไม่เชิง)
จิตก็คือการที่รู้ว่าใจผ่องแผ้ว ใจไม่ผ่องใส คือเห็นว่าใสหรือไม่ใส สว่างหรือไม่สว่าง นั่นเอง
ธรรมนั้นก็คือรู้เห็นว่า อะไรเป็นกุศล ? อะไรเป็นอุกศล ? อะไรเป็นธรรมกลาง ? คือไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล ยังคาบลูกคาบดอก เรียกว่า อัพยากตาธัมมา คือธรรมฝ่ายกลาง สีกายธรรมเป็นสีน้ำตาล ธรรมภาคมารสีกายธรรมเป็นสีดำและสีตะกั่ว สีกายธรรมของภาคขาวเป็นสีขาว ที่เราได้ยินพระท่านสวดว่า กุสลาธัมมา (คือภาคพระ ภาคขาว ภาคกุศล) อกุสลาธัมมา (คือภาคมาร ภาคดำ ภาคบาป) อัพยากตาธัมมา (คือภาคกลาง ประเภทบุญไม่ทำกรรมไม่สร้าง จะว่าเป็นพระก็ไม่ใช่ จะว่ามารก็ไม่เชิง)
การเห็นกายในกาย ตั้งแต่กายหยาบไปถึงกายละเอียด เรียกว่า “กายานุปัสสนา”
การเห็นเวทนาในเวทนา คือเห็นทุกข์ สุข ไม่ทุกข์และไม่สุข ตั้งแต่กายหยาบไปถึงกายละเอียด เรียกว่า “เวทนานุปัสสนา” ทุกข์เป็นดวงดำ สุขเป็นดวงขาว ดวงสีน้ำตาลเป็นดวงของภาคกลาง
การเห็นใจที่ใส ใจที่ไม่ใส ตั้งแต่ใจของกายหยาบไปถึงกายละเอียด หากมารเขามาแทรก ใจของเราก็ขุ่นมัว ไม่สว่างใส หากเป็นใจของภาคขาวล้วน ๆ ใจนั้นก็สว่างใส เรียกว่า “จิตตานุปัสสนา”
การเห็นดวงธรรมต่าง ๆ เช่นดวงธรรมสีขาว ดวงธรรมสีดำ ดวงธรรมสีน้ำตาล ที่พบในกายต่าง ๆ ตั้งแต่ในกายหยาบไปถึงกายละเอียด การเห็นเช่นนั้น แสดงถึงการเข้ามายึดอำนาจปกครอง หากเราพบแต่ดวงธรรมขาว ส่งผลให้ภาคกุศลเป็นความรุ่งเรือง หากไปพบดวงดำเข้า ภาคมารเขาก็มีกำลังมากกว่าภาคขาว การรู้เห็นเช่นนี้ เรียกว่า “ธัมมานุปัสสนา”
หนังสือปุจฉาวิสัชชนา-วิชชาธรรมกายฯ หน้า 167