การเรียนเรื่องลมหายใจเข้าออก ก็คือ อาโลกกสิณ
การเรียนเรื่องลมหายใจเข้าออก ก็คือ อาโลกกสิณนั่นเอง คือ เอาอากาศเป็นนิมิต และการเอาดวงแก้วกำหนด ก็คือ อาโลกกสิณนั่นเอง ดวงแก้วขาวเห็นง่ายกว่าอากาศ อากาศละเอียดกว่าดวงแก้ว คือ เห็นได้ยากกว่าดวงแก้ว พูดถึงความหมายนั้นอย่างเดียวกัน ดังนั้น เรื่องนิมิตลมก็คือ อานาปานัสสตินั่นเอง แต่การปฏิบัติเรื่องพิจารณาลมเพี้ยนไป เกจิอาจารย์หลัง ๆ จำคลาดเคลื่อนกันมาอย่างไรไม่ทราบ ไม่ได้กำหนดลมที่ศูนย์กลางกาย ว่าลมหายใจไปสุดที่ศูนย์กลางกายนั้น แล้วลมก็ไปหล่อเลี้ยงร่างกายต่อไป คงตั้งใจมั่นตรงนั้น แต่ถอนใจมารับลมที่จมูกอีก ใจก็เลยวิ่งเข้าวิ่งออก ไม่เข้าสู่ดวงปฐมมรรค ไม่เข้าจุดเริ่มต้นของมรรคผลนิพพาน จึงเป็นผลให้ไม่เข้าถึงธรรมกาย นี่คือข้อต่างกันระหว่าง สัม มา อะ ระ หัง กับพุทโธ มีข้อปฏิบัติต่างกันนิดเดียว แต่ให้ผลต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว นี่คือธรรมภาคมารเขาเข้ามาทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อน กลัวมนุษยโลกจะได้มรรคผลนิพพานมาก เขาก็เข้ามาขวางวิชา แต่ก่อนข้าพเจ้าไม่ทราบ มาทราบเอาตอนที่ทำวิชาปราบมารนี้เอง
เราจะมาเถียงกันว่า สัมมาอะระหังหรือพุทโธถูก เป็นเรื่องที่บัณฑิตไม่ควรกล่าว ข้าพเจ้าขอชี้ว่า อย่างเดียวกัน คือ เรื่องการกำหนดนิมิตที่เราเรียกว่า อานาปานัสสติ ตามที่กล่าวมาแล้ว แต่การวางใจถูกที่มั่นไม่เหมือนกัน เรื่องก็แค่นี้เอง แล้วเรามาโต้เถียงให้ได้อะไรขึ้นมา แน่นอนที่สุด เมื่อแนวปฏิบัติต่างกันแล้ว ผลย่อมต่างกัน คราวนี้ต่างคนต่างว่า ต่างก็อ้างว่าพระศาสดาสอนอย่างนี้ ไม่มีใครชี้ขาด เพราะพระบรมศาสดาเข้านิพพานไปแล้ว ไม่มีกายมนุษย์ของพระองค์แล้ว ไม่มีกายมนุษย์ให้เราถาม แต่กายธรรมของพระองค์ยังมีอยู่ ขณะนี้อยู่ในนิพพาน ทำไมเราไม่เข้าธรรมกายไปถาม เรื่องมันอยู่ที่เราเป็นธรรมกายหรือเปล่า ก็เราไม่ฝึกให้เป็นธรรมกาย เราจะไปถามได้อย่างไร ไม่ว่าใครทั้งนั้น เป็นธรรมกายแล้ว ไปถามได้ทั้งนั้น แต่ทิฏฐิคือกิเลสร้าย คือ มารร้าย จะยอมออกจากใจเราหรือ เขาเป็นผู้สกัดกั้นมรรคผลนิพพานอยู่แล้ว เรื่องอะไรที่เขาจะออกไป เขาจะออกไปก็ต่อเมื่อตาย ตอนนั้นเราจะรู้แจ้ง และเราก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ทุกอย่างสายหมดแล้ว นี่คือ อานุภาพของกิเลสเขา เขาหลอกเขาลวง สารพัดที่เขาจะทำ เขาเก่งจริง เหตุนี้เองเขาจึงเป็นเจ้าโลกเป็นเจ้าธรรม
พูดถึงเนื้อวิชา จะพบว่า สายพุทโธมีวิธีฝึก โดยพิจารณาลมหายใจเข้าออก ให้ระลึกรู้อยู่เสมอว่า ลมหายใจเข้าออกละเอียดอ่อนแค่ไหน ต่อไปจะเกิดความสงบทางใจ เมื่อเกิดความสงบแล้ว เกิดความคิดปลอดโปร่งคือ เกิดปัญญา ต่อไปก็เกิดอารมณ์ต่าง ๆ อารมณ์ใดไม่ชอบ ท่านให้ระงับ อารมณ์ใดว่างเปล่าท่านให้เจริญภาวนาอารมณ์นั้นให้ยิ่งขึ้น จนถึงขั้นปล่อยวางได้ เนื้อความรู้สรุปแล้วเห็นจะมีแค่นี้
แต่เนื้อวิชาสายธรรมกาย มีวิธีฝึกโดยการกำหนดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ต่อเมื่ออารมณ์สงบแล้ว จะเห็นดวงปฐมมรรคที่ศูนย์กลางกาย มีลักษณะเป็นดวงขาวใส เห็นดวงธรรมอย่างนี้ ๖ ดวง แล้วจะเห็นกายละเอียดของตนเอง คือ เห็นกายไปเกิดมาเกิดหรือที่เรียกว่า กายฝัน (กายมนุษย์ละเอียด) กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม ทั้งหยาบและละเอียด รวม ๘ กาย เรียกว่า กายโลกีย์ จากนั้นจะเห็นกายธรรม หรือที่เรียกว่า ธรรมกาย ทั้งหยาบละเอียด รวม ๑๐ กาย เบ็ดเสร็จรวม ๑๘ กาย จากนั้น เป็นหลักสูตรมหาสติปัฏฐาน ๔ คือ เรื่อง กาย เวทนา จิต ธรรม พูดง่าย ๆ ว่า กายก็คือ กาย ๑๘ กายที่ว่านั้น กายเหล่านั้นมีใจที่ละเอียดเรียกเป็นคำพระว่า เวทนา จิตก็คือ ใจที่ละเอียด ธรรมก็คือ กายทั้ง ๑๘ กาย มีญาณทัสสนะไปรู้เห็นอะไรบ้าง ได้แก่ ไปรู้เห็น นิพพาน ภพ ๓ โลกันต์ เรียนกันเท่าไรไม่รู้จบ มีหลักสูตรมากมาย รวมเรียกว่า วิชาธรรมกาย พูดอย่างเราก็คือ ธรรมกายไปเรียนวิชากับพระบรมศาสดา แต่ไปเรียนกับธรรมกายของพระองค์ ครั้งที่พระสิทธัตถกุมารมีพระชนม์อยู่ ทรงบรรลุวิชาธรรมกายในวันวิสาขบูชา ธรรมกายของพระองค์ไปเรียนอย่างไร เราก็ไปเรียนอย่างนั้น ธรรมกายที่ว่านี้มีความหมายอย่างนี้ หากท่านเข้าใจว่า ธรรมคือ คำสอนของพระศาสดา ธรรมกายของเราก็ไปเรียนธรรม ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้น ตามแต่ใครจะเรียนได้มากน้อยแค่ไหน เป็นหลักสูตรกว้าง สุดแต่บารมีของใครที่จะเข้าถึง ท่านจะเห็นว่าวิชาธรรมกายมีหลักสูตรกว้างและละเอียด ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ก็เรียนไม่จบ หากจะให้ข้าพเจ้าบรรยายแล้ว พูดเท่าไรก็ไม่จบ ที่กล่าวนี้ย่นย่อ เพื่อความเข้าใจว่า สายธรรมกายกับสายพุทโธ มีวิธีเรียนและมีหลักสูตรไม่เหมือนกัน เพื่อท่านจะได้พิจารณาดูข้อแตกต่างเบื้องต้น
คราวนี้มาถึงว่า หลักสูตรวิชาธรรมกายนั้น หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเขียนหลักสูตรเบื้องต้นไว้ ๓ เล่ม คือ หนังสือ ๑๘ กาย (ทางมรรคผลนิพพาน) ถือเป็นระดับอนุบาล หนังสือคู่มือสมภาร ถือเป็นหลักสูตรประถมศึกษา หนังสือวิชชามรรคผลพิสดาร ถือเป็นหลักสูตรมัธยมศึกษา ส่วนหลักสูตรอุดมศึกษา หลวงพ่อไม่ได้เขียนเป็นหนังสือไว้ คงสอนแก่ผู้บรรลุวิชาธรรมกายชั้นสูง สอนแล้วก็ไม่ได้จดโน้ตความรู้ไว้ เป็นที่น่าเสียดายมาก
เพียงหนังสือ ๓ เล่ม คือ หนังสือ ๑๘ กาย (ทางมรรคผลนิพพาน) หนังสือคู่มือสมภาร และหนังสือวิชชามรรคผลพิสดาร มีหลักฐานเป็นหนังสือให้ศึกษาค้นคว้า ไม่ว่าใครก็ศึกษาได้ เรียนได้ เพียงแค่นี้ เราก็ยุติปัญหาได้แล้ว ว่าเนื้อหาสาระของวิชาธรรมกายนั้นเป็นอย่างไร และเราจะตัดสินใจอย่างไร ข้าพเจ้าไม่พูด ท่านทั้งหลายก็ถาม
เอาเป็นว่า หนังสือ ๓ เล่มที่กล่าวนั้น ตลอดชีวิตของเรา เราจะเรียนได้แค่ไหน หากเรานำไปเทียบเคียงกับตำราวิสุทธิมรรค นำไปเทียบกับปิฎก จะพบว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ สอดคล้องกันหมด ปริยัติว่าอย่างนี้ การปฏิบัติทางวิชาธรรมกายทำอย่างไร และเกิดผลในทางปฏิเวธอย่างไร วิชาธรรมกายแสดงไว้ชัดเจน ไม่มีอะไรข้องใจอีกต่อไป ท้าทายให้ปราชญ์ทั่วโลกพิสูจน์ได้เรียนได้ ข้องใจตรงไหนขอให้บอก เราอธิบายได้ทั้งนั้น ที่กล้าพูดอย่างนี้ เพราะข้าพเจ้าค้นคว้าแล้ว พิสูจน์แล้ว ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ตลอดชีวิตไม่ว่าจะไปสอนที่ไหน พบนักปราชญ์หลายระดับ ตอบคำถามได้ตลอด ไม่เห็นมีอะไรที่เราหนักใจ เพราะเราเรียนเราทำได้ เราก็บอกว่าอะไรคืออย่างไร แต่วิชาธรรมกายต่างกับวิชาพุทโธอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ศิษย์เก่งกว่าอาจารย์ได้ ถ้าศิษย์หมั่นเรียนหมั่นค้นคว้า แต่วิชาพุทโธ ศิษย์จะไม่เก่งกว่าอาจารย์ อาจารย์เก่งคนเดียว วิชาธรรมกายคือ พระนิพพานเป็นมหาวิทยาลัย พระบรมศาสดาเป็นครู ครูมีนับไม่ถ้วน เพราะนิพพานมีนับไม่ถ้วน ขยันอย่างเดียว เรามีสิทธิ์เก่งกว่าอาจารย์
แต่การจะเป็นธรรมกายนั้น จะต้องเข้ามรรคได้ จึงจะเข้าถึงกายอื่น ๆ ได้ ถ้าเข้ามรรคไม่ได้ ก็คงต้องพิจารณาแค่กายมนุษย์เพียงกายเดียว หากเป็นอย่างนี้ก็คือ พุทโธนั่นเอง เพราะเข้ามรรคไม่ถูก จึงไปถึงกายละเอียดไม่ได้ ประเด็นอยู่ตรงนี้ อาสารหนังสือความรู้ว่าด้วยพุทโธ ไม่มีให้ค้นคว้า จะกล่าวละเอียดนักยังไม่ได้
ตามที่บรรยายมานี้ ดูว่าจะยาว เพราะเมื่อกล่าวถึงเรื่องใด ต้องให้ชัดเจนในเรื่องนั้น เป็นเรื่อง ๆ ไป ยังไปเข้าเรื่องของ “ต้นปราบ” เลย เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษา จึงต้องกล่าวไว้พอสมควร
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือปราบมาร ภาค 2 หน้า 68