การเห็นที่ถูกต้อง
– เห็นธรรมกายในท้องของตน เพราะที่ศูนย์กลางกายของเรา มีสภาวะเป็น “สุญญตา” มีลักษณะกว้างใหญ่ไพศาล ประดุจท้องฟ้าปราศจากเมฆ มีสภาพขาวและใส ธรรมกายใหญ่เท่าไรและมีจำนวนมากเท่าไร บรรจุเท่าไรก็ไม่เต็ม
– การเห็นธรรมกายเป็นการเห็นด้วยใจ ไม่ได้เห็นด้วยนัยน์ตาของกายมนุษย์หยาบ และถ้าเราหลับตาแล้วใจจะเปิด ถ้าตาไม่หลับ ใจก็ไม่เปิด เห็นธรรมกายได้ทุกด้าน ทั้งด้านบน ด้านหน้า ด้านหลังด้านล่าง ด้านข้าง ธรรมกายนั่งในท่าขัดสมาธิ กายมนุษย์หันหน้าไปทางใด ธรรมกายก็หันหน้าไปทางนั้น
การนำไปใช้
–นึกให้เห็นธรรมกายในท้องของตนเนืองนิจ โดยแบ่งใจออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งใช้ใน ภาระหน้าที่ประจำวัน อีกส่วนหนึ่ง ให้นึกดูดวงธรรมในท้องธรรมกาย เมื่อมีทุกข์ภัยอะไรให้ส่งใจนิ่งไปกลางดวงธรรมของธรรมกาย แล้วอธิษฐานให้พระองค์ทรงช่วย ประสงค์อะไรก็บอกความต้องการในทางที่ชอบธรรม อธิษฐานใจเสร็จแล้ว ให้หยุดนิ่งกลางดวงธรรม จรดใจให้ถูก “กลาง” บริกรรม “สัม มา อะ ระ หัง” เรื่อยไป องค์ธรรมกายจะเปล่งรัศมี และปาฏิหาริย์กายใหญ่ยิ่งขึ้น
การรักษาธรรมกาย
– เมื่อเห็นธรรมกายแล้ว ให้รักษาไว้จงดี วิธีรักษาก็คือ ทำใจหยุดและนิ่งกลางดวงธรรมในท้องธรรมกาย ให้เห็นธรรมกายขาวใส แจ่มจรัสรัศมีในทุกอิริยาบถ ทั้งอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน ธรรมกายก็จะคุ้มครองรักษา (ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม)
– แต่ถ้าไม่หมั่นนึก ไม่หมั่นดู ไม่หมั่นหยุด ไม่หมั่นนิ่ง การกระทำเช่นนี้ ถือว่าไม่บูชาธรรม ธรรมกายก็จะหาย ไม่เห็นอีกต่อไป เราก็หมดที่พึ่งทางใจ นับเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ของชีวิต
– ถ้าดวงธรรมใสสะอาด และองค์ธรรมกายจรัสแสงแจ่มใส แปลว่า ชีวิตของเราจะรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าดวงธรรม ซูบซีด มัว ไม่ผ่องใส เป็นผลให้ธรรมกายไม่ใสด้วย บ่งถึงว่าชีวิตเราจะเสื่อม ทำมาหากินไม่เจริญ จะมีอุปสรรค จะมีโรคภัยเบียดเบียน ฯลฯ
อ่านเพิ่มเติมใน >>> วิธีสอนและเทคนิควิธีฝึกให้เป็นธรรมกาย (คู่มือวิปัสสนาจารย์) หน้า 122