เหตุที่เราเรียนวิชาธรรมกาย

ก็เพื่อยกสภาพของใจให้พ้นการปกครองของมาร เราจึง
พยายามหยุด พยายามนิ่ง พยายามเข้ากลางของกลาง และพยายามทำให้ใสไว้

       เมื่อเราเรียนสูงขึ้นไป มารมันก็เอาวิชาระดับสูงมาสู้ ถ้าเราชนะไปได้ แปลว่า เราได้มรรคผล ถ้าเราแพ้ คือ หยุดไม่ได้ นิ่งไม่ได้ ทำให้ใสไม่ได้ ทำความดีไม่ตลอด เราก็ยังไม่ได้มรรคผล แปลว่า เรายังเวียนเกิดเวียนตายต่อไป

       วิชาที่เราเรียนตั้งแต่ต้น จนถึงวิชาชั้นสูง ก็เพื่อกำจัดกิเลส ตัณหา อุปาทาน วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ ทุกข์ ภัย โรค มรณะ สงคราม ฯลฯ เรื่องกิเลส ตัณหา อุปาทาน วิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ ทุกข์ ภัย โรค มรณะ สงคราม นั้น มารมันทำวิชาดักสัตว์โลกไว้ ตั้งแต่เล็กถึงโต วิชาของพระพุทธเจ้าฝ่ายบุญที่จะใช้แก้ ก็ต้อง ใช้ทั้งวิชาหยาบจนถึงวิชาละเอียดเช่นกัน จึงเรียกว่า “วิชาธรรมกาย”

ภาคมารนั้นมีฤทธิ์นัก
ลวงล่อให้เราผิดทางตลอดเวลา

       พระพุทธเจ้าภาคมารมีฤทธิ์นัก ลวงล่อให้สัตว์โลกผิดทางตลอดเวลา ให้สัตว์โลกทำกรรมชั่ว จะได้เอาไปลงโทษในนรก หน้าที่ของเขาเป็นอย่างนั้น

          เราจะรักษาศีล                         เพื่อนก็มาทำให้ศีลขาด

          เราจะบวช                                เพื่อนก็จะให้เราละเมิดวินัย

          เราจะเรียน                               เพื่อนก็ให้เรียนผิดๆ

          เราตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย  เขาก็เบนจิตใจเราให้ไปตั้งที่อื่น ให้เข้าผิดทางเข้าไว้

       รวมความว่า เขาเข้ามาก้าวก่ายงานของพระพุทธเจ้าภาคบุญทุกเรื่อง หนทางใดและวิธีใดที่จะทำให้สัตว์โลกเห็นผิด จำผิด คิดผิด รู้ผิด เขาทำทั้งนั้น ทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อสัตว์โลก จะได้ทุกข์ร้อน ก่อกรรมทำเข็ญ เวียนว่ายตายเกิด ไม่รู้จบรู้สิ้น เพราะมารเขามีหน้าที่อย่างนี้

พระพุทธเจ้าภาคบุญจะให้สัตว์โลกพ้นทุกข์

พระพุทธเจ้าภาคมารจะให้สัตว์โลกเกิดทุกข์

พระพุทธเจ้า ๒ ภาคนี้ ไม่ถูกกัน เป็นอริกัน

เพราะต่างก็แย่งอำนาจปกครองในสัตว์โลก

       วิชาที่พระพุทธเจ้าภาคบุญกำหนดไว้ดีแล้ว ซึ่งเป็นทางเดินให้เราพ้นทุกข์ ก็ถูกพระพุทธเจ้าภาคมารมาแปรเปลี่ยนให้เคลื่อนไปให้ผิดไปเสมอ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็เอาด้วย เวทมนตร์คาถา บางครั้งมารมีกำลังได้อำนาจปกครอง เขาก็ส่งคนของมารเข้าไปมีอำนาจในบ้านในเมือง เกิดการรบพุ่ง จนบ้านแตกสาแหรกขาด วัดถูกเผา พระไตปิฎกถูกเผา เผาพระพุทธรูป เราท่านทราบเหตุการณ์อย่างนี้มาแล้ว

       ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีการรวมตำราใหม่ ตำราดีๆ ของเราหายไปเท่าไร ความรู้ที่เคยถูกต้อง ความถูกต้องก็จะเหลือน้อยลง ความคลาดเคลื่อนปรากฏมีขึ้น ผู้รวบรวมก็ทำได้เท่าที่ความทรงจำจะพึงมีตำราที่เรารวมขึ้นใหม่ ไม่ว่าตำราอะไร ความสมบูรณ์คงไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์

ในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สำคัญ อันเป็นความรู้บอกแนวปฏิบัติ
ด้านจิตใจ ไปสู่ทางมรรคผลนั้น มารได้ยึด เห็น จำ คิด รู้ ของ
อาจารย์ทั้งหลาย ให้ลืมไปบ้าง ให้เคลื่อนไปบ้าง ให้เข้าใจผิดไปบ้าง
เหลือความถูกต้องอยู่บ้างก็เล็กน้อยเท่านั้น

       ความหมายของศัพท์บางคำก็เข้าใจไปกันคนละอย่าง ๒ อย่าง จนยากแก่การเข้าใจ

       อย่างเช่นการตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งที่นั่นเป็นที่ตั้งของดวงปฐมมรรค อันเป็นจุดแรกของการเดินมรรคผล มารก็แปรเปลี่ยนให้ไปตั้งที่อื่น กัมมัฏฐานแนวต่างๆ ในทุกวันนี้ ไม่มีขนานใดตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายเลย มีแต่ที่ตั้งนอกตัวทั้งนั้น เป็นการเดินนอกทั้งนั้น ไม่เดินในเลย เดินทางไม่ถึงพระพุทธองค์เลย มีแต่เดินออกห่างจากพระพุทธองค์ ได้แต่กล่าวคำภาวนาว่าเป็นพระพุทธองค์ ก็ได้แต่กล่าวไปอย่างนั้น ปฏิบัติกันมากี่อายุคน เกจิอาจารย์สอนสืบต่อกันมาอย่างนั้น มีใครได้มรรคผลบ้าง เราได้แต่เชื่อว่าท่านได้มรรคผล เพราะท่านปฏิบัติจริงจัง ตั้งแต่เกิดจนตาย น่าเชื่อว่าท่านได้มรรคผลจะได้มรรคผลอะไร เพราะวางใจผิดที่ ใจก็ผิดทางไปตลอดชีวิต ฤทธิ์เดชที่มี ลาภผลที่ได้ ชวนให้เชื่อว่าสำเร็จจริง ที่แท้มารเขาส่งผลให้ทั้งนั้น กว่าเราจะทราบความจริง ชีวิตของเราก็หมดลงอีก ๑ ชาติ โดยไม่ได้อะไร

และอย่างเช่นความรู้เรื่องปัญจกัมมัฏฐานที่อุปัชฌาย์สอน
ได้แก่ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ได้แต่บอกหลักการ แต่
แนวปฏิบัติไม่บอก ใครๆ ก็ปฏิบัติไม่ได้ทั้งนั้น แต่อุปัชฌาย์ก็สอนกัน
มาเป็นประเพณี และสอนตรงกันหมด บอกได้ตรงกันหมด ในเรื่องนี้
แต่แรกเริ่มคงมีแนวปฏิบัติ ว่าจะให้ทำอย่างไร กาลต่อคงเพี้ยนไปๆ
จนหาแนวปฏิบัติไม่ได้ในปัจจุบัน

      ลองนึกเอาส่วนหนึ่งของเกสา คือเส้นผม ไปเพ่งที่ศูนย์กลางกาย เพ่งไปนานเข้า เห็นด้วยใจว่าเส้นผมแปรเปลี่ยนจากสีดำเป็นหงอก และจากหงอกเป็นผุยผง และจากผุยผงก็เกิดเป็น “อุคหนิมิต” เป็นดวงใส และเพ่งจากดวงใสเกิดเป็น “ธรรมกาย” ขึ้น จากนี้ไป ลอu3591 .เอาโลมา นขา ทันตา ตโจ บ้าง จะเห็นว่าเกิดเป็นธรรมกายเช่นเดียวกัน คราวนี้ลองทำถอยหลังดูบ้าง เริ่มจาก ตโจ ถอยหลังลงมาจนถึงเกสา ก็ได้ผลอย่างเดียวกัน จากนี้ไปลองเอา ๕ อวัยวะรวมกัน แล้วเพ่งที่ศูนย์กลางกาย จะเห็นว่าเกิดเป็นธรรมกายอย่างเดียวกัน

       เราจึงจับหลักได้ว่า เรื่องของปัญจกัมมัฏฐานนี้ก็คือเรื่องของธรรมกาย เรื่องของธรรมกายก็คือเรื่องของพระรัตนตรัย อุปัชฌาย์สอนให้เราเข้าถึงพระรัตนตรัย โดยให้เอาบางส่วนของอวัยวะเหล่านั้นเป็นนิมิต เหตุที่เอาจากอวัยวะในตัวเรา เพราะเห็นง่าย นึกได้ง่าย ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่น เนื่องจากหาได้ยาก ให้เห็นความย่อยยับไปของร่างกาย ใจเราจะได้เร่งขวนขวาย รักษาศีล เพราะการรักษาศีลเป็นกุศล เกิดความเบื่อหน่ายว่า ร่างกายมีแต่จะแตกและดับสลาย ถ้าแตกดับไปแล้ว เราหมดโอกาสที่จะรักษาศีล หมดโอกาสที่จะได้บุญ ครั้งใจเกิดความเบื่อหน่ายย่อมจะเกิดอารมณ์การปล่อยวาง เพราะสิ่งโน้นก็จะแตก สิ่งนี้ก็จะสลาย พาให้เกิดอารมณ์เอกัคคตา ในที่สุด ใจหยุดและใจนิ่ง และเห็นปฐมมรรคที่ศูนย์กลางกายนั้น และได้เห็นธรรมกายของตนได้

เรื่องสำคัญเรื่องนี้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่การบอกแนวปฏิบัติ
ห้วนลง จนจับสาระไม่ได้ ทั้งที่ปัญจกัมมัฏฐาน ๕ นี้ คือ หัวใจของ
เรื่องมรรคผล เป็นเรื่องของพระรัตนตรัย เป็นเรื่องของความหลุดพ้น
ไม่ได้รับการพัฒนาสืบต่อ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มารเขาระเบิดวิชา
ของเราไปได้

      เรื่องอานาปานัสสติ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มารเขาดลใจเราให้เกิดความเข้าใจไปหลายอย่าง ทุกวันนี้เราเข้าใจกันว่า ลมเข้าที่ปลายจมูก แล้วบริกรรมว่า “พุธ” พอลมออกที่ปลายจมูก เราบริกรรมว่า “โธ” เราปฏิบัติกันมาอย่างนี้หลายอายุคนแล้ว เราได้อะไรจากการทำเช่นนั้น ลองดูเหตุผล

      (๑.) ลมเข้าที่ จมูกแล้วกลับออกมาที่จมูก ธรรมชาติเป็นอยู่อย่างนั้น กำหนดอย่างนั้นให้ได้อะไรขึ้นมา แต่ใจเป็นสมาธิขึ้นแน่ เพราะไม่ได้เอาใจไปทำอย่างอื่น นอกจากนี้จะได้อะไรอีกบ้าง ตายกันไปกี่อายุคนแล้ว เราก็บริกรรมกันอยู่อย่างนั้น แล้วเราได้อะไรจากการทำเช่นนั้น

      (๒.) ดูความเข้าใจของคำอานาปานัสสติ จะให้พิสดารกว่านั้น เราจะเข้าใจไปทางใดได้บ้าง และมีเหตุผลอะไร ในความเข้าใจของเรานั้น คำอานาปานัสสติจะมีควาหมายอะไรอีกไหม

       ลมเข้าลมออก คือ หายใจเข้าและหายใจเอาลมที่ร่างกายไม่ต้องการออกมา ไม่ได้อยู่ที่ปลายจมูกเท่านั้น ลมเข้าไปลึกตรงไหน และออกจากที่สุดลมนั้น ทำไมไม่มีเกจิอาจารย์ใดเกิดความเข้าใจ อย่างนี้บ้าง ถ้าเราพิจารณาลมหายใจเข้าว่า ลมหายใจเข้าไปหยุดที่ใด และลมหายใจออกเริ่มออกจากที่ใด ก่อนที่จะมาถึงปลายจมูก

ณ ที่สุดลมหายใจเข้าและที่สุดลมหายใจออก
เป็นศูนย์กลางกาย เป็นที่ตั้งของดวงปฐมมรรค ถ้าใครเอาใจไปตั้งตรงนั้น พิจารณากันตรงนั้น ป่านนี้คงมีคนเห็น ธรรมกายกันมากต่อมาก และได้มรรคผลกันไปแล้ว ไม่ทราบว่าเท่าไร

       ท่านจะเห็นว่ามารเขาเก่งมาก ในเรื่องบ่ายเบนความคิดของเรา อย่างเช่นเรื่องอานาปานัสสติ เป็นต้น เราก็แพ้มารเขาอย่างชัดเจน เพราะถ้าหากเราค้นหาที่ตั้งของใจได้ มารก็แพ้เราเท่านั้น เนื่องจากเราค้นพบทางมรรคผลได้แล้ว

แต่มารเก่งมาก เมื่อเราพบทางวิเศษ มันก็ตามไปรังควานใน
เรื่องอื่นอีก เราจะต้องไปสู้รบตบมือกับมัน ไม่รู้จบสิ้น

       มารเข้าสร้างวิชาต่างๆ เพื่อลวงล่อสัตว์โลกให้หลงผิดด้วยประการต่างๆ เมื่อท่านเป็นธรรมกาย ถึงระดับแก่กล้า ด้วยรู้และญาณของธรรมกาย เราจึงทราบว่าขณะนี้มารเขาเอาวิชาของภาคมารมาให้เรียน ในเนื้อหาของวิชาเหล่านั้น อ้างอานุภาพของพระพุทธเจ้า เราหลงเชื่อว่า เป็นอานุภาพของพระพุทธเจ้าฝ่ายบุญ แต่แท้จริงแล้วเป็นวิชาของพระพุทธเจ้าภาคมารทั้งนั้น

       ดังนั้น จึงขอให้งดเว้นการเรียน และเว้นจากการประพฤติ ๓ อย่าง ต่อไปนี้

๑. การเรียนไสยศาสตร์ ได้แก่ อาคมขลัง

๒. การเรียนกัมมัฏฐานของภาคมาร

๓. การทรงเจ้าเข้าผี

 

อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือวิธีสอนและเทคนิควิธีฝึกให้เป็นธรรมกาย (คู่มือวิปัสสนาจารย์) หน้า 149