การฝึกเบื้องต้น

 ข้อคิดคำนึง

๑. ผู้เรียนใด เอาจริง หรือเรียนเล่นๆ เราควรจะฝึกอะไร วิชาอะไร

๒. ผู้เรียนใด ตั้งใจใฝ่รู้ เรียนเพื่อสร้างบารมี ต้องการความหลุดพ้น เราควรให้อะไร วิชาอะไร

๓. ผู้เรียนใด เอาเพียงหมดเคราะห์กรรม เพื่อให้ทำมาหากินคล่องตัว ทุกข์ร้อนก็มาเรียน หมดทุกข์ก็เลิก เราควรให้เรียนวิชาใด

๔. ผู้เรียนใด เหมาะที่จะเป็นวิปัสสนาจารย์ เพื่อสืบวิชาของพระศาสนา ประเภทนี้ ต้องสอนต้องเรียนกันถึงขั้นแจ่มแจ้งแทงตลอด

          ๕. ผู้มีทุกข์ร้อนมาหา ไม่ว่าจะประเภทใด เราต้องมีความรู้ทางวิชาธรรมกายแก้ไข โดยไม่พึ่งตำราหมอดู ไม่ใช้รดน้ำมนต์ ไม่ใช้เวทมนตร์คาถา ไม่ใช้การปลุกเสกเลขยันต์ ขอให้ใช้วิชานิโรธหรือวิชาอาสวักขยญาณอย่างตามมีตามได้ อย่าไปพึ่งวิชามาร

เราทำได้แค่นี้ เป็นกรรมของเรา ดีกว่าเราเสี่ยง ไปเล่นวิชามาร เพราะจะทำให้เราตกนรกแล้วใครจะช่วยเราได้

          ๖. เรามีพวกมาก มีคนมาหาเรามาก เพราะเป็นที่พึ่งทางใจของเขา หากเราคิดจะช่วยเขาเหล่านั้น ก็จงตั้งใจเรียนวิชาธรรมกายให้แก่กล้า แล้ววิชาเราจะช่วยเพื่อนได้ เราจะได้ไม่เสี่ยงต่อการตกนรก โปรดอย่าอยากดัง และอยากเด่น ด้วยการใช้เดรัจฉานวิชา เพราะเสี่ยงต่อนรก เราอยู่กันไปอีกคนละไม่นาน มีกินมีใช้แค่นี้พอแล้ว มียศแค่นี้พอแล้ว มีตำแหน่งแค่นี้พอแล้ว อีกไม่กี่วันเราก็จะตาย

          เรามีบุญได้มาเจอวิชาธรรมกาย ได้มาเห็นของจริง วิชาจริง แค่นี้ก็บุญเหลือหลายแล้ว ชาตินี้โชคดีได้ลาภหลายชั้น เพราะมาพบวิชาธรรมกาย จะไปสร้างบุญใดก็ตาม จะสร้างบารมีใดก็ตามในโลกนี้ก็ไม่มีบุญใดไพศาลเท่ากับบุญอันเกิดจากการฝึกวิชาธรรมกาย

          เราไม่ควรหลงใหลบุญจากการสร้างวัตถุ เพราะชีวิตเราสั้นมาก อีกไม่กี่ปีเราก็ตาย แล้วเราจะได้บุญอะไรติดศูนย์กลางกายของเราไปได้บ้าง ได้บุญจากการบวชไปได้บ้าง ได้บุญจากการก่อสร้างไปได้บ้าง บุญแค่นั้น จะช่วยอะไรให้ท่านได้ มันเล็กน้อยเกินไป จนเราใช้การอะไรไม่ได้ แต่ชีวิตของเราก็จบลงแล้ว เห็นมีแต่บุญอันเกิดจากการฝึกธรรมกายเท่านั้นที่จะเป็นกอบเป็นกำ และติดตัวท่านไปได้และใช้ประโยชน์ได้ในปรภพเบื้องหน้า เพราะมากพอ และไพศาลพอที่เราจะทำประโยชน์

          ๗. เราเป็นนักสร้างบุญ เป็นนักสร้างบารมีด้วยกัน ลองเข้าธรรมกายไปในอายตนะนิพพานทูลถามพระพุทธองค์ดู ไปให้มากนิพพาน ว่าจะตอบตรงกันหรือไม่ ถามว่า มาเป็นธุระให้เพื่อนสหธรรมมิกทำธรรมกายให้มีขึ้นได้ ให้เป็นขึ้นได้เพียงคนเดียวนั้น พระองค์ให้บารมีคือ ดวงบุญญาภิสันทาให้เราเท่าไร วันนี้เราไม่ได้เหตุผล พรุ่งนี้อารมณ์ดี เข้าไปถามใหม่ทำจนกว่าเราจะได้เหตุผล ได้คำตอบแน่นอน เพราะรู้และญาณเราไม่แก่กล้าเท่าหลวงพ่อองค์อาจารย์ เราก็ต้องหมั่นฝึกทำให้ยิ่งขึ้น จนกว่าเราจะได้เหตุผล เราก็ทราบทันทีว่า ถ้ามีเพื่อนสหธรรมมิกได้ธรรมกาย ๑ คน เราได้บุญมากกว่าบวชสงฆ์ ๔๐,๐๐๐ รูป จะไปเปรียบเทียบกับบุญสร้างวัด ๑๐๐ วัด ก็สู้บุญธรรมกายไม่ได้ทั้งนั้น

บุญบวชสงฆ์ก็ดี สร้างวัดก็ดี ถึงจะมากอย่างไร ก็ออกนอกภพ
สามนี้ไม่ได้ แต่บุญธรรมกายนี้ออกไปนอกภพสามได้

แต่บรรลุเพียงเห็นดวงปฐมมรรค ก็ได้บุญระดับหนึ่ง
เป็นแค่ธรรมกายเบื้องต้น ก็ได้บุญระดับหนึ่ง
หากทำได้ครบถ้วน ๑๘ กาย ได้บุญอีกระดับหนึ่ง
เป็น ๑๘ กายแล้ว เข้าอายตนะนิพพานด้วย แถมทำอนุโลมปฏิโลมด้วย ก็ได้บุญอีกระดับหนึ่ง

เรามาคำนวณดูว่า ถ้าเราเอาจริง เล่นทั้งสอนและเรียนคือ
สอนด้วย ตัวเราก็ค้นคว้าชั้นสูงต่อไปด้วย รวม ๒ งาน กว่าเราจะตาย
จะได้บุญได้บารมีสักปานใด น่าคิด น่าคิดครับ

          ถ้าไปยุ่งงานก่อสร้าง ยุ่งงานจิปาถะ ถามว่าเราได้อะไร สักเท่าไร เพราะอีกไม่นานเราก็จะลาโลกแล้ว ไม่วันนี้ ก็พรุ่งนี้ มันแน่นอนที่ไหน การสร้างบุญบารมี สุดแต่ปัญญาใครปัญญามันเหมือนกัน

          ๘. งานสร้างบารมีธรรมกายของท่าน ท่านได้เตรียมการอะไรไว้บ้างแล้วหรือยัง และท่านเตรียมตัวเตรียมใจ จะฝึกฝนแล้วหรือยัง ขณะนี้ อายุท่านเท่าไร

คาดว่า อีกกี่ปีจะตาย
ท่านจะเอาบุญบารมีอะไรติดตัวท่านไปบ้าง
ขณะนี้ ท่านทำอะไร ได้บุญอะไรบ้าง
ความตายกำลังเรียกตัวท่าน
ขอให้รีบ รีบ และจงรีบ แต่วันนี้
พรุ่งนี้ ไม่แน่นอนอะไร ใครจะรู้ได้
ถ้าใครคิดว่าพร้อมก็ทำ ไม่พร้อมก็ทำ เอาเท่าที่ได้ และต้องทำวันนี้ เวลานี้ด้วย

มีก็ทำ ไม่มีก็ทำ ขาดก็ทำ เกินก็ทำ แปลว่า ท่านชนะมารได้ครึ่งหนึ่งแล้ว การตัดสินใจเช่นนั้นถูกต้อง

          เพราะยศเราเอาไปไม่ได้ ตำแหน่งก็เอาไปไม่ได้ อำนาจก็เอาไปไม่ได้ เงินก็เอาไปไม่ได้ ลูกเมียก็เอาไปไม่ได้ บริวารก็เอาไปไม่ได้ มีอะไรบ้างที่เราเอาไปได้ บุญกับบาปเท่านั้น ที่เอาไปได้
          บุญก็ให้ผลเป็นสุข บาปก็ให้ผลเป็นทุกข์
          นี่คือ สัจธรรม
          แล้วเรา จะเอาบาปไปทำไม
          ธรรมกายนี้ ตามเราไปทุกแห่งหน ทั้งที่เรามีลมหายใจ และยามเราสิ้นลมปราณ

ธรรมกายท่านจริงต่อเรา แต่เราจริงต่อพระองค์แค่ไหน
ถ้าจริงต่อพระองค์ เราก็ต้องหยุดต้องนิ่ง ให้เห็นพระองค์ใสแจ่ม
อยู่เสมอ จึงจะชื่อว่า จริงต่อพระองค์อย่างแท้จริง

         หากเป็นเพียงนับถือ ได้แต่บูชากราบไหว้ ยังไม่ถือว่าจริงที่แท้ จริงที่แท้จะต้องพากเพียรจนแก่กล้าในวิชาธรรมกาย อย่างนี้จึงเรียกว่า จริงต่อธรรมกาย และธรรมกายก็จริงต่อเรา หากใครจริงอย่างนี้ แปลว่า เขาผู้นั้นเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศาสนาที่แท้


อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือวิธีสอนและเทคนิควิธีฝึกให้เป็นธรรมกาย (คู่มือวิปัสสนาจารย์) หน้า 114