คุณของพระพุทธเจ้า 9 ประการ

คุณของพระธรรม 6 ประการ

พระอริยสงฆ์ 9 ประการ นับอย่างไร?

คุณของพระพุทธเจ้า มี ๙ ประการ ดังนี้

      (1.) อรหํ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

      (2.) สัมมาสัมพุธโธ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

      (3.) วิชชาจรณะสัมปันโน เป็นผู้เข้าถึงจรณะและวิชชา

      (4.) สุคโต เป็นผู้ไปดีแล้ว หมายความว่า เดินใจไปตามแนวของมรรค ๘ ถูกต้องทั้งหมด ดีทั้งหมด

      (5.) โลกวิทู รู้แจ้งโลก คือรู้แจ้งทั้งสังขารโลก สัตว์โลก และอากาศโลก

      (6.) อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นผู้สอนที่ดีเลิศ ไม่มีใครเหมือน

      (7.) สัตถาเทวมนุสสานัง เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์

      (8.) พุทโธ เป็นผู้ตื่นแล้ว เบิกบานแล้ว

      (9.) ภควา จำแนกแจกธรรมได้หมด

คุณของพระธรรม มี ๖ ประการ ดังนี้

      (๑) สวากขาโต ภควตา ธัมโม แปลว่า ธรรมที่พระองค์ทรงสอนนั้น เลิศประเสริฐนักใครปฏิบัติแล้วเกิดผลดีทั้งนั้น รู้เห็นได้เฉพาะผู้ปฏิบัติเท่านั้น (สันทิฏฐิโก) เกิดผลไม่เลือกเวลา (อกาลิโก) เมื่อได้ผลดีแล้วเรียกให้คนอื่นมาดูได้ (เอหิปัสสิโก) ควรน้อมนำธรรมนั้นเข้ามาในตน (โอปนยิโก)

คุณของพระอริยสงฆ์ มี ๙ ประการ ดังนี้

      (1.) สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีแล้ว คือยึดทางสายกลางเข้าหลักมรรค ๘ ทีเดียว

      (2.) อุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง มุ่งตรงต่อนิพพานสถานเดียว ไม่มุ่งทางอื่นเลย

      (3.) ญายปฏิปันโน ปฏิบัติเพื่อมุ่งออกไปจากภพ ๓ เพราะภพ ๓ เป็นทุกข์

      (4.) สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติอย่างดีเลิศ เหตุที่ว่าดีเลิศเพราะมุ่งตรงนิพพานอย่างเดียว

      (5.) อาหุเนยโย ควรแก่การที่ใครต้องเคารพ ใครที่ปฏิบัติอย่างนี้? ถือว่าควรแก่การให้ความเคารพทั้งนั้น

      (6.) ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรที่เราให้การต้อนรับ

      (7.) ทักขิเนยโย เป็นผู้ควรรับสิ่งของที่เขาทำบุญ

      (8.) อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้

      (9.) อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว

        สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ สาวกของพระพุทธเจ้ามี ๒ ประเภท คือปุถุชนสาวกและอริยสาวก ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระรัตนตรัย แต่ยังไม่ได้บรรลุธรรมวิเศษอะไร? เรียกว่า ปุถุชนสาวก แต่อริยสาวก หมายถึง ผู้บรรลุธรรมวิเศษแล้ว คือ โสดาปฏิมรรค โสดาปฏิผล สกิทามีมรรค สกิทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล หมายถึงผู้บรรลุธรรมกาย

       – พระโสดา  ละกิเลสได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลพพตปรามาส

       – พระสกิทาคามี  ละกิเลสอย่างพระโสดาได้แล้ว ยังละกิเลสได้อีก ๒ คือ กามราคะ พยาบาท

       – พระอนาคามี   ละอย่างพระสกิทาคามีได้แล้ว ยังละกามราคะและพยาบาทอย่างละเอียดได้อีก

       – พระอรหัต  ละอย่างพระอนาคมีได้แล้ว ยังละรูปราคะ (ความกำหนัดยินดีในรูปฌาน) อรูปราคะ (ความกำหนดยินดีในอรูปฌาน) มานะ (ความถือตัว) อุทธัจจะ ( ความฟุ้งซ่าน) อวิชชา (ความมืด ความเขลา ไม่รู้อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของสังขาร ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาทธรรม ไม่รู้อริยสัจ) สรุปแล้ว พระอรหัตละสังโยชน์ได้ ๑๐ ประการ)

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ >>> หนังสือปราบมาร ภาค 5 หน้า 141