ความรู้ปริยัติ
พระพุทธศาสนาสอนอย่างไร
เราได้อะไรจากคำสอนนั้น

      พระพุทธศาสนา มีคำสอนอันประเสริฐ ผู้ปฏิบัติตามคำสอนย่อมหมดทุกข์ ได้รับความสุข ทั้งความสุข
เบื้องต้น ความสุขชั้นกลาง และอมตสุข คือ ความสุขอันยิ่ง
      หากได้ฝึกจิตตามหลัก “มรรค ๘” ด้วยแล้ว ท่านจะได้บรรลุ “ธรรมกาย” เป็นผลให้หมดชาติ หมดภพ ไม่เวียนว่ายตายดับกันอีกต่อไป ขอแต่ว่า ทำความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธศาสนาให้เข้าใจ ให้รู้ “ถูกต้อง” อย่างจริงจัง ได้หลัก ได้กฎเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

คำสอนของพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ คือ
       ๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำบาปทั้งปวง
       ๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำกุศลให้พร้อมมูล
       ๓. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจให้ผ่องใส
เอตํ พุทฺธานสาสนํ คำสอน ๓ ข้อนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

สรุปคำสอน
       ๑. ไม่ทำบาปหรือความชั่วด้วย กาย วาจา ใจ (เว้นทุจริต)
       ๒. ทำกุศลด้วย กาย วาจา ใจ (ประกอบสุจริต)
       ๓. ทำใจให้ผ่องใส ตามหลักมรรค ๘

๑. เว้นไจากทุจริต คือ เว้นจากอกุศลกรรมบท ๑๐
       – กายทุจริต ๓ – วจีทุจริต ๔ – มโนทุจริต ๓

ก. กายทุจริต ๓ คือ
       ๑. ปาณาติบาต ทำให้ชีวิตสัตว์ตกล่วงคือ ฆ่าสัตว์
       ๒. อทินนาทาน ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ให้มาเป็นของตนด้วยการขโมย
       ๓. กาเมสุมิจฉาจาร ประพฤติผิดในกาม

ข. วจีทุจริต ๔ คือ
       ๑. มุสาวาท พูดเท็จ
       ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
       ๓. ผรุสวาจา พูดหยาบ
       ๔. สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อ

ค. มโนทุจริต ๓ คือ
       ๑. อภิชฌา โลภอยากได้ของเขา
       ๒. พยาบาท ปองร้ายเขา
       ๓. มิจฉาทิฏฐิ ประพฤติผิดจากคลองธรรม (ผิดศีลธรรม)
กรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นบาป ให้ละเว้น

ประกอบสุจริต คือ ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐
กุศลกรรมบถ ๑๐ คือ
– กายสุจริต ๓ – วจีสุจริต ๔ – มโนสุจริต ๓

ก. กายสุจริต ๓ คือ
      ๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจาก การฆ่าสัตว์
      ๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจาก การลักขโมย
      ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจาก การประพฤติผิดในกาม

ข. วจีสุจริต ๔ คือ
      ๑. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจาก การพูดเท็จ
      ๒. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เว้นจาก การพูดส่อเสียด
      ๓. ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจาก การพูดคำหยาบ
      ๔. สัมผัปปลาปา เวรมณี เว้นจาก การพูดเพ้อเจ้อ

ค. มโนสุจริต ๓ คือ
      ๑. อนภิชฌา ไม่โลภอยากได้ของเขา
      ๒. อพยาบาท ไม่ปองร้ายเขา
      ๓. สัมมาทิฏฐิ ประพฤติถูกต้อง ตามคลองธรรม (ถูกศีล ถูกธรรม)
กรรม ๑๐ อย่างนี้ เป็นทางบุญ ให้เพิ่มพูนเนืองนิตย์

๒. การทำกุศลให้พร้อมมูล
       คำสอนข้อนี้ ทุกคนเข้าใจดีแล้วว่า การรักษาศีล การฟังเทศน์ การเจริญภาวนา การทำบุญทำทาน เป็นทางบุญ ควรเพิ่มพูนให้ยิ่งขึ้น
      เมื่อทำบุญมากเข้า จนบารมี ๑๐ ประการของท่านโตได้ส่วน ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ท่านจะเห็น “ธรรมกาย” และสำเร็จเป็น พระอรหันต์

๓. ทำใจให้ผ่องแผ้ว
       สจิตฺตปริโยทปนํ แปลว่า การทำใจให้ใส เป็นคำสอนข้อที่ ๓ คำสอนข้อนี้ยากที่จะอธิบาย และยากแก่การเข้าใจ เรื่องของใจ เป็นเรื่องยากเสมอ เพราะ “ใจ” ไม่มีตัว ไม่มีตน จับต้องไม่ได้ แต่ใจมีอาการ
อาการของใจ คือ เห็น จำ คิด รู้
       พูดอย่างเข้าใจง่าย “ใจ” คือ ความรู้สึก นึก คิด แม้กระนั้น เราก็ยังไม่กระจ่างชัด แต่เรามีความจำเป็นต้อง “ทำใจให้ใส” ตามคำสอนของพระศาสดา หากเรามีความเข้าใจเรื่องของ “ใจ” ไม่ถูกต้อง
เป็นผลทำให้ใจใสไม่ได้ เราจะไม่พบของวิเศษ ซึ่งของวิเศษนั้น เกิดแก่ผู้ทำใจให้ใสเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย หน้า 16