เรื่องดวงนิมิต

      นิมิต คือ การกำหนดเครื่องหมายโดยใจ จะใช้อะไรเป็นนิมิต ก็นึกให้เห็นสิ่งนั้นด้วยใจ ถ้านึกแล้วเห็นรูปร่างหน้าตาของวัตถุนั้นได้ แปลว่าใจกำหนดนิมิตได้

      วัตถุประสงค์ของการกำหนดนิมิต ก็เพื่อเป็นเครื่องหมายให้ใจยึดมั่น หากใจไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่ยึด ใจย่อมคิดนึกไปในเรื่องต่าง ๆ ตามธรรมชาติของใจ เมื่อใจไม่รวมกัน การพัฒนาใจย่อมทำได้ยาก

      จะใช้อะไรเป็นนิมิต คำราในทางพระศาสนากำหนดไว้มากสุดแต่อะไรจะเหมาะแก่จริตของใคร ใครชอบอย่างใด ก็ใช้อย่างนั้น แต่อุปัชฌาย์ท่านใช้ เกสา โลมา นขา ทันตา ตะโจ สอนให้พระบวชใหม่พิจารณา เรียกว่าพิจารณาปัญจกัมมัฎฐาน นั่นคือ ท่านใช้อุปกรณ์การสอนว่าด้วยการกำหนดนิมิต ใช้สิ่งที่มีในตัวเรา ไม่ต้องไปหาอุปกรณ์อื่นที่ไกลตัวเรา ถามว่า หากไม่ใช้นิมิตตามที่กล่าวนี้ จะใช้อย่างอื่นได้หรือไม่ ตอบว่า ท่านใช้อะไรเป็นนิมติได้ทั้งนั้นสุดแต่ท่านพอใจ

      แต่ท่านมีข้อแนะนำว่า ควรเป็นวัตถุสีขาว การฝึกพัฒนาใจตามที่กล่าวมานี้ ใช้ดวงแก้วกลมขาวใส นี่คือ อาโลกกสิณ คือ ใช้แสงสว่างเป็นนิมิต แต่แสงสว่างละเอียดมาก มองไม่เห็น จึงใช้ดวงแก้วใสแทน เพราะมองเห็นได้ด้วยตา

การใช้ดวงแก้วขาวใสเป็นวิธีที่ประเสริฐมาก
เพราะดวงธรรมกับดวงแก้วมีลักษณะคล้ายกันมาก
คือดวงธรรมเป็นดวงแก้วใส มีรัศมีสว่างโชติ
แต่ดวงแก้วนิมิต ไม่มีแสงสว่าง ดวงธรรมที่ท่านเห็น
ไม่ใช่ดวงนิมิต ดวงนิมิตเป็นเพียงสื่อ เมื่อสภาพใจ
ของเราหยุดถูกส่วน ดวงแก้วนิมิตจะหายไปเป็น
อัตโนมัติ ดวงธรรมใหม่ที่เราเห็นคือดวงธรรม
ขณะที่ดวงนิมิตจะหายแล้วจะเกิดดวงธรรมดวงใหม่
เป็นขั้นตอนเร็วมาก ต้องสังเกตให้ทัน ถ้าสังเกตไม่ทัน
จะไม่ทราบ

      ท่านข้องใจว่า การฝึกพัฒนาใจตามวิธีใช้ดวงแก้วเป็นนิมิตนั้น เราจะไม่ใช้ดวงแก้วเป็นนิมิตได้หรือไม่ ส่งใจนิ่งที่ศูนย์กลางกายเลยทีเดียว แล้วก็บริกรรม สัม มา อะ ระ หัง เรื่อยไปจนกว่าจะเห็นดวงธรรม ตอบว่าทำเช่นนั้นได้ ถ้าเราสามารถทำใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ เราก็เห็นดวงธรรมเช่นเดียวกัน แต่เราไม่เก่งถึงขั้นนั้น เราจึงต้องใช้ดวงแก้วเป็นนิมิต

      มีวิธีกำหนดนิมิตอีกวิธีหนึ่ง คือการพิจารณาลมหายใจเข้าออก เรียกว่า อานาปานัสสติ วิธีนี้ส่งใจนิ่งลงไปที่ศูนย์กลางกาย พิจารณาลมหายใจเข้าออก เพราะที่ศูนย์กลางกายเป็นที่สุดลมหายใจเข้าออก อากาศดีไปหล่อเลี้ยงร่างกาย อากาศเสียก็ออกมาจากที่สุดลมหายใจนั้น จังหวะใดที่ลมหายใจเข้าเท่ากับลมหายใจออก ใจเราจะสงบระงับ และเห็นดวงธรรมทันที

      แต่เราเข้าใจไปว่า ส่งใจมาที่จมูกรับรู้ว่าหายใจเข้า และคอยรับรู้ที่จมูกอีกว่าลมหายใจออก ออกมาที่ปลายจมูกแล้ว อีกแนวหนึ่ง รับรู้ลมหายใจเข้า แล้วตามลมหายใจเข้าไปที่ศูนย์กลางกายแล้วก็ส่งใจรับลมหายใจออก ออกมากับลมนั้นด้วย เลยทำให้ใจวิ่งเข้าวิ่งออก โอกาสที่ใจจะเข้าถึงดวงธรรมไม่มี อารมณ์สงบระงับได้ เพราะใจไม่ได้ทำงานอื่น ทำงานอยู่กับลมหายใจอย่างเดียว แต่ไม่เข้าถึงดวงธรรม วิธีที่พิจารณาลมหายใจเข้าออกที่ศูนย์กลางกายนั้น คือใช้อากาศเป็นนิมิต ก็คืออาโลกกสิณนั้นเอง

      ที่กล่าวเรื่องอานาปานัสสติ ก็เพื่อความรู้เท่านั้น ข้าพเจ้าไม่ถนัด ขอสนับสนุนให้ใช้วิธีกำหนดดวงนิมิตดวงแก้วใส เพราะถ้าใจเราติดลมหายใจเข้าออกเสียแล้ว การฝึกวิชาชั้นสูงทำได้ยากเหลือเกิน และกว่าจะแก้ไขเรื่องลมหายใจหมดไปได้ ใช้เวลาแรมปี ข้าพเจ้าฝึกวิชาธรรมกายได้ล่าช้า ก็เพราะฝึกวิธีเดินลมหายใจมาก่อน เราไม่เข้าใจอย่างที่นักปราชญ์เขาเข้าใจ เราได้แต่ฝึกตามที่ครูอาจารย์สอนสืบต่อกันมา ย่อมทำผิด ๆ ถูก ๆ เมื่อใจเราฝึกมาอย่างผิด ๆ ถูก ๆ เสียแล้ว ย่อมทำให้แบบฝึกที่ถูกต้องนั้น รวนเรไปหมด เพราะความรู้ใหม่กับความรู้เก่าปะปนกัน จนไม่รู้อะไรเป็นอะไร กว่าจะแก้ความรู้ให้ถูกต้องได้ ใช้เวลาแก้ไขนานเหลือเกิน

อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือทางรอดของมนุษย์ฯ หน้า 179