ความรู้ปฏิเวธที่เราควรทราบ
เมื่อเราเป็นธรรมกายแล้ว รู้และญาณของธรรมกายทำให้เราเห็นวิชา อันเป็นความรู้ลึกซึ้งที่เรา
ไม่เคยทราบมาก่อน และก็ไม่มีใครบอกความรู้อย่างนี้แก่เราได้ ดังนี้
๑. การสวดมนต์ให้ถึงพระ ต้องตั้งใจกลางดวงธรรม ให้ใจของเราถูกจุดใสเท่าปลายเข็มกลาง
ดวงธรรมนั้น อย่าให้ใจเคลื่อนได้ เสียงกล่าวคำสวดของเราดังไปถึงนิพพานทีเดียว เป็นการสวดที่ได้บุญ
บารมี การสวดอย่าที่เราเคยสวดกันมานั้น เป็นเพียงสวดได้เท่านั้น ได้บารมีน้อย
๒. ไม่ถูกศูนย์ผิดทาง การฝึกเจริญภาวนานั้น ถ้าไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกาย ก็แปลว่า ไม่ถูกทาง
๓. ไม่เข้ากลางออกนอก หมายความว่า การเดินวิชานั้น ท่านให้เข้ากลางเรื่อยไป คือ กลาง
ดวงธรรมจะมีจุดใสเท่าปลายเข็ม ให้ส่งใจนิ่งลงไปที่จุดใสเท่าปลายเข็มนั้น อาจารย์ท่านพูดว่า
กลางของกลาง ดับหยาบไปหาละเอียด หมายความว่า ส่งใจเข้ากลางดวงธรรมเรื่อยไป ดับหยาบไปหา
ละเอียด หมายความว่า ไปถึงละเอียดใดก็ให้ตั้งต้นจากละเอียดนั้นไปหาละเอียดยิ่งขึ้นไปอีก
หากเข้ากลางไม่ได้ เรียกว่า ออกนอก คือ กิเลสพาไปนั่นเอง
๔. ไม่หยุดไม่ถึงพระ หมายความว่า ต้องทำใจหยุดทำใจนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ จึงจะพบ
พระบรมศาสดา และพระบรมศาสดาก็คือ ธรรมกายนั่นเอง หากทำใจหยุดไม่ได้ ก็ไปถึงพระไม่ได้ คือ
ไปถึงธรรมกายไม่ได้
๕. ไม่ลึกไม่ถึงน้ำ มีความหมายหลายอย่าง อย่างแรกหมายถึง การทำความเพียรเพื่อให้
ใจหยุดใจนิ่งนั้น ทำได้ยาก ท่านที่ทำความเพียรอ่อนเรียกว่าไม่ลึก จึงไม่ถึงธรรมกาย อีกความหมายหนึ่ง
ท่านหมายถึงการเดินวิชานั้น ต้องเดินวิชาให้ละเอียดยิ่งขึ้นไป หากเดินวิชาหยาบจะไม่เป็นผล เพราะ
กิเลสยังขัดขวางได้ อุปมาเหมือนการขุดหาน้ำใช้ หากขุดตื้นก็ไม่ถึงตาน้ำ เอาน้ำมาใช้ไม่ได้
๖. การหยุดของใจนั้นต้องหยุดในหยุดให้ละเอียด ในการเดินวิชาธรรมกายนั้น
มีกฎเกณฑ์มาก ความจริงเราหยุดได้อยู่แล้วเอาเข้าจริงก็ยังใช้การไม่ได้ หยุดเฉยๆ ไม่ได้ ต้องหยุด
ให้ละเอียดยิ่งขึ้นอีก คือ หยุดในหยุดต่อไปเรื่อยๆ หยุดอันเดิมใช้การไม่ได้
๗. การเห็นนิมิตต้องเห็นข้างใน คือ เห็นที่ศูนย์กลางกาย เดินในท้องของเรา ไม่ใช่เห็น
ข้างนอก คือ เห็นนอกกาย เห็นในของเรา เห็นนอกของเขา เห็นนอกเป็นการเห็นที่กิเลสเขาหลอก
๘. ปัญจกัมมัฏฐานที่อุปัชฌาย์สอนคือ นิมิตให้เห็นพระรัตนตรัย แต่การสอนของ
อุปัชฌาย์สอนกันตามประเพณีเท่านั้น ไม่ว่าที่ไหนสอนตรงกันหมด แต่ไม่มีใครทำได้เลย ได้แต่กล่าวตาม
อุปัชฌาย์ไปอย่างนั้นเอง การสอนกัมมัฏฐานเรื่องปัญจกัมมัฏฐานนั้น จึงล้มเหลวด้วยประการทั้งปวง
เมื่อเราเป็นธรรมกายแล้ว เราก็ค้นว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร รู้และญาณของธรรมกายไปเห็นเข้า จึงได้รู้ว่า
ปัญจกัมมัฏฐานคือ สอนให้พระบวชใหม่เข้าถึงพระรัตนตรัย โดยเอานิมิต ๕ อย่างนี้ กำหนดเป็นนิมิตเข้า
คือ เกสา (เส้นผม) โลมา (เส้นขน) นขา (เล็บ) ทันตา (ฟัน) ตะโจ (หนัง)
ท่านให้นึกเอาสิ่งเหล่านี้ ไปกำหนดที่ศูนย์กลางกาย แล้วเพ่งดูการเปลี่ยนแปลงของนิมิตเหล่านั้น
สุดท้ายนิมิตเหล่านี้เป็น “ดวงใส” ขึ้น ครั้งเพ่งไปกลางดวงใสหนักเข้า ก็เห็นธรรมกาย ธรรมกายก็คือ
พระรัตนตรัย เพื่อพระบวชใหม่จะได้ไม่เบื่อการบวช ทำทั้งอนุโลมและปฏิโลมก็ได้ผลอย่างเดียวกัน
หรือจะรวมเอานิมิตทั้ง ๕ มารวมกัน แล้วเพ่งที่ศูนย์กลางกาย ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
หากเราไม่เป็นธรรมกาย เราก็ตีปัญหานี้ได้ไม่แตก ก็ได้แต่ทำสืบต่อกันมา ยังมีความรู้ที่เราเชื่อ
มาอย่างผิดๆ อีกมาก หากมีเวลา ข้าพเจ้าจะนำเสนอให้ท่านทราบในโอกาสต่อไป
เหล่านี้คือความรู้ปฏิเวธเบื้องต้น ส่วนความรู้ปฏิเวธชั้นสูง ท่านต้องติดตามหนังสือของข้าพเจ้าที่
สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง หรือติดต่อคณะเผยแพร่ของข้าพเจ้า แล้วท่านจะได้ทราบเรื่องราวแปลกๆ อีก
มาก
ขอให้ทุกท่านเป็นธรรมกายทั่วกันเถิด แล้วพบกับข้าพเจ้าใหม่ในวิชาธรรมกายหลักสูตรอื่น
ข้องใจหรือสงสัยอะไร โปรดติดต่อถามไปได้ ข้าพเจ้ายินดีรับใช้และให้บริการ
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคตฯ หน้า 67