เหตุใดชีวิตของหลวงพ่อมีคุณค่าสูง

       เราเรียนคติธรรมและคตินิยมของหลวงพ่อจบลงแล้ว ในขณะเดียวกัน เราสังเกตการดำเนินชีวิตของหลวงพ่อไปด้วย เราก็พอทราบว่า หลวงพ่อมีแนวในการดำเนินชีวิตอย่างไร

       หากยังตอบคำถามไม่ได้ ต้องย้อนไปอ่านทวนดูใหม่ แล้วจะเข้าใจ

       หลวงพ่อพูดว่า ชีวิตเรามีค่าเท่ากัน แต่ต่างกันที่การบริหาร บริหารผิด ชีวิตก็ไร้ค่า บริหารถูก ชีวิตก็มีคุณค่า บริหารอย่างไรจึงว่าบริหารผิด หากเข้าทำนองว่า “ทางโลกก็เหลว ทางธรรมก็แหลก เหมือนแบกบอน เหลือแต่ กิน นอน เที่ยว สามอันเท่านั้นเอย”

       บริหารชีวิตอย่างนี้ ผิดแน่แล้ว แล้วชีวิตของเราจะมีค่าอะไร เพราะเราเอาแต่กิน นอน เที่ยว เท่านั้น เราไม่ทำประโยชน์อะไรเลย เราไม่เอาอะไรเลย ชีวิตของเราสูญค่าตรงนี้ หลวงพ่อท่านสอนแล้ว อย่าโกงตัวเอง ๑ อย่าทำชีวิตเป็นหมัน ๑ อยู่ที่ไหนให้สงเคราะห์กุลบุตร ๑ เพียง ๓ อย่างนี้ เราไม่เข้าสูตรข้อไหนเลย แล้วเราจะเอาอย่างไรกับตัวเราเอง นี่แหละคือ ชีวิตที่ไร้ประโยชน์

      กลับมาดูการบริหารชีวิตแบบหลวงพ่อบ้าง ว่าหลวงพ่อท่านบริหารอย่างไร ไม่ต้องดูกันลึกซึ้ง ดูกันแบบหยาบๆ โดยเอาคติธรรม และคตินิยมของหลวงพ่อมาพิจารณา จำกัดขอบข่าย เอาแคบ ๆ แค่นี้ จะเป็นดังนี้

. อย่าโกงตัวเอง หลวงพ่อไม่ให้อภัยตัวเอง เมื่อได้เวลาต้องทำงานทันที หน้าที่ของหลวงพ่อทำครบถ้วน

. อย่าทำชีวิตเป็นหมัน ชีวิตของหลวงพ่อบริบูรณ์ด้วยผลงานนานาประการ

. อย่าว่าง ถ้าว่างต้องสอนหนังสือกุลบุตร สมัยนั้นยังไม่มีโรงเรียนประชาบาล เกิดเป็นชาย
โอกาสทางการศึกษา คือศึกษาจากวัด หากเป็นหญิงแล้ว โอกาสทางการศึกษาสิ้นสุดลงทันที
หลวงพ่อตั้งโรงเรียนของวัดขึ้น ให้ประชาชนนำลูกหญิงชายมาฝากเรียน เป็นการเรียนฟรี
โดยหลวงพ่อรับภาระจัดหาครูมาสอน ต่อมาทางรัฐบาลประกาศพระราชบัญญัติ
ประถมศึกษา รัฐบาลมารับโรงเรียนของหลวงพ่อไปอยู่ในความปกครองของรัฐบาล หลวงพ่อ
หมดภาระโรงเรียนแห่งนี้ แล้วกลับไปโหมการศึกษาฝ่ายสงฆ์อย่างเต็มมือ

      เราทราบแล้วว่า การศึกษาของสงฆ์มี ๒ อย่าง คือ คันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ซึ่งคันถธุระได้แก่ การเรียนนักธรรมและเรียนบาลี หลักสูตรนักธรรมคือ นักธรรมตรี โท เอก ส่วนแผนกบาลีนั้น ได้แก่ เปรียญธรรม ๓ ประโยค ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดทั่วๆ ไป อย่างมากมีแค่แผนกนักธรรมและบาลี เท่านั้น คือ จัดได้แค่คันถธุระเท่านั้น แต่วิปัสสนาธุระไม่มีวัดใดจัดได้เลย   แต่หลวงพ่อจัดสอนวิปัสสนาธุระด้วย โดยหลวงพ่อเป็นผู้สอนวิปัสสนาธุระเอง

       เหตุใดวัดทั่วไปจึงไม่จัดสอนวิปัสสนาธุระ ตอบว่า ครั้งนั้นไม่มีหลักสูตร และเหตุที่ไม่มีหลักสูตรก็เพราะไม่มีผู้รู้ในสายการเรียนนี้ ธุระของสงฆ์จึงดำเนินมาได้ธุระเดียวคือ คันถธุระเท่านั้น ส่วนวิปัสสนาธุระไม่มีการสอนในวงการสงฆ์ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ตราบเท่าทุกวันนี้

       การที่ทางการสงฆ์บัญญัติการศึกษาของสงฆ์ว่ามี ๒ สาขา คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระนั้นชอบแล้ว เพราะพระสงฆ์ทำหน้าที่สอนประชาชน จะได้มีความรู้ไปสอนประชาชน คันถธุระคือ เรียนทฤษฎี วิปัสสนาธุระคือ เรียนปฏิบัติพัฒนาใจ พัฒนาใจเพื่ออะไร เราท่องขานนาคกันว่า สัพพทุกขะ นิสสรณะ นิพพานะ ฯ บวชแล้วจะต้องทำใจให้แจ้งนิพพาน เมื่อไม่เข้าหลักสูตรวิปัสสนาแล้วจะแจ้งนิพพาน ได้อย่างไร คำสอนข้อ ๓ ที่ว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ” แปลว่า ทำใจให้สว่างใส ทำอย่างไรจึงจะสว่างใส จนในที่สุดแจ้งนิพพาน ก็เมื่อทางการสงฆ์ขาดการศึกษาธุระสายวิปัสสนาแล้ว กุลบุตรจะแจ้งนิพพานได้อย่างไร การศึกษาของสงฆ์ขาดไป ๑ ธุระ แม้จนวันนี้ยังไม่แก้ไขอะไร

       วิปัสสนาธุระไม่เจริญ สภาพใจคนตกต่ำ ทำกรรมชั่วกันมากขึ้นทุกวัน แม้คนที่มีการศึกษาสูง ก็ยังทำอนันตริยกรรม คือทำปิตุฆาต ดังที่เราเห็นในข่าวหนังสือพิมพ์ สังคมจะเป็นสุขได้อย่างไร นี่คือ ปัญหาสังคมในปัจจุบันซึ่งเราท่านทราบตรงกันหลวงพ่อเป็นผู้บุกเบิกวิปัสสนาธุระ โดยหลวงพ่อเป็นผู้สอนเอง ในวัดปากน้ำนั้น ตำราที่หลวงพ่อทำไว้
มี ๓ เล่ม ดังนี้

๑. หนังสือทางมรรคผล (๑๘ กาย)

๒. หนังสือคู่มือสมภาร

๓. หนังสือวิชชามรรคผลพิสดาร

      นี่คือหลักสูตรวิปัสสนาธุระ นำมาใช้สอนกุลบุตรได้เป็นอย่างดี นำไปศึกษาได้ทั้งสายนักธรรมสายบาลี ทั้งโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ก็ใช้ได้

      เมื่อกล่าวถึงตำราวิปัสสนาธุระของหลวงพ่อ ๓ เล่ม เห็นว่าพอแล้ว ไม่ต้องกล่าวประการอื่นอีกแล้ว เพียงแค่นี้ชีวิตของหลวงพ่อมีคุณค่ายิ่งกว่าใด ๆ หลวงพ่อบริหารชีวิตของหลวงพ่ออย่างประเสริฐเลิศล้ำแล้ว


อ่านเพิ่มเติมใน >>>> หนังสือคติธรรม คตินิยม การดำเนินชีวิตของหลวงพ่อวัดปากน้ำ หน้า 52