การอธิษฐาน

        เรื่องอธิษฐานเป็นเรื่องสำคัญ หากเปรียบบุญเป็นเงิน เราต้องตั้งวัตถุประสงค์ว่าเงินนี้จะเอาไปใช้อะไร แล้วเราก็เอาเงินไปใช้เพื่อการนั้น

        แต่เงินนี้ต่างกับบุญ ก็คือ เราเก็บเงินไว้มากๆ เห็นว่าจะเอาไปใช้อะไร เราก็จ่ายไปเพื่อการนั้น ส่วนเรื่องบุญไม่เหมือนเงิน บุญส่วนนี้จะใช้อะไร ก็อธิษฐานไว้ เรียกว่า อธิษฐานบารมี ถึงเวลาบุญส่วนนั้นก็บันดาลให้เป็นไปตามคำอธิษฐาน

        จะอธิษฐานอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเรา เรื่องนี้ต้องเรียน จะพูดกันนิดหน่อยไม่ได้ และต้องเรียนกันถึงขั้นแตกฉาน เราจึงตัดสินใจถูกต้อง ว่าจะอธิษฐานอะไร ผมขอเสนอแนะไว้ ดังนี้

        ๑  ให้มีดวงตาเห็นธรรมตั้งแต่บัดนี้

        ๒. ให้ได้มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ตั้งแต่บัดนี้ คือ ต้องการเดี๋ยวนี้ไปรอชาติหน้าทำไม หากไม่สมประสงค์ในชาตินี้ บุญนั้นก็จะต้องอุปการะให้อีก

        ๓. มีปัญญาประเสริฐ รูปกายประเสริฐ ทรัพย์ประเสริฐ

        ๔. ให้มีดวงตาเห็นธรรม บริสุทธิ์ สมบูรณ์ บริบูรณ์ ด้วยผลทาน ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ และวิมุตติญาณทัสสนะ โดยสัมมาทิฏฐิ  สุข สมบูรณ์ บริบูรณ์ด้วยมนุษย์สมบัติ สวรรคสมบัติ นิพพานสมบัติ อันมีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ จงปราศจากเหตุวิบัติ บาปศักดิ์สิทธิ์ ภัยพิบัติ ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ โรคาพยาธิ และ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย

        ๕. จงเป็นผู้ปราศจาก

            อภิชฌา                  พยาบาท                  มิจฉาทิฏฐิ

            โลภะ                      โทสะ                       โมหะ

            ราคะ                      โทสะ                        โมหะ

            กามราคานุสัย        ปฏิฆานุสัย                 อวิชชานุสัย

            สักกายทิฏฐิ           สีลัพพตปรามาส       วิจิกิจฉา

            กามราคะ               พยาบาท                   รูปราคะ         อรูปราคะ

            มานะ                     อุทธัจจะ                   อวิชชา

 

                             ให้สมบูรณ์บริบูรณ์ด้วย

            ทาน                        ศีล                           ภาวนา

            ศีล                          สมาธิ                       ปัญญา

            อธิศีล                     อธิจิต                       อธิปัญญา

            ปฐมมรรค              มรรคจิต                    มรรคปัญญา

        ตรัสรู้เป็น โคตรภู พระโสดา พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหัตต์ และตรัสรู้ในตรัสรู้ เข้านิโรธในตรัสรู้ ตรัสรู้ในนิโรธ ตรัสรู้ไปสุดหยาบสุดละเอียด ไม่ถอยหลังกลับ

        ๖. อย่าได้ประพฤติผิดในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ อนันตริยกรรม ๕ ปาราขิก ๔ ให้มีใจตั้งอยู่กับพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ญานะและมีศีลบริสุทธิ์

        ๗. ให้ได้เกิดในแดนของพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นธรรมทายาท ได้บวชในพุทธศาสนา ได้อุปัฏฐากพุทธศาสนา ตลอดอายุขัยของตน

        ๘. เมื่อใกล้ตาย ถึงวาระจะหมดอายุขัย ขอให้ใจระลึกถึงบุญได้ และใจนิ่งอยู่กับพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ และไปสู่คติ

        ๙. ให้มีสติในกาลทุกเมื่อ และใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ให้หยุดถูกสิบ ถูกศูนย์ ถูกส่วน เข้ากลางของกลาง เรื่อยไปไม่ถอยหลังกลับ ให้เข้าถึงพระรัตนตรัย

       

        ตามที่กล่าวนี้ เป็นตัวอย่าง ก่อนที่จะอธิษฐานต้องคิดให้รอบคอบ

        ว่าจะอธิษฐานว่าอะไร เพื่อประสงค์อะไร คิดหาเหตุผลให้ดี เมื่อคิดได้แล้ว

        จำต้องคิดต่อไปว่า จะทำบุญอะไร แรงอธิษฐานนั้นจึงจะสมเหตุสมผล

        ไม่ใช่ทำบุญเล็กน้อย แล้วอธิษฐานเอาแต่เรื่องใหญ่เรื่องโต อย่างนั้นไม่สมเหตุสมผล

        ทำบุญอะไร จะอธิษฐานอะไร สมควรกับความปรารถนาของเราหรือไม่ คิดให้ดี

        คิดให้รอบคอบ บุญประเภทใดที่ท่านยังไม่ได้ทำ อะไรบ้างที่ท่านยังไม่ได้อธิษฐาน

        ควรจะวางแผนไว้ตลอดชีวิตของท่าน

 

        ต่อเมื่อท่านทำกุศลครบถ้วน และได้อธิษฐานบารมีไว้ครบกระบวนการความแล้ว จนท่านเกิดความรู้สึกว่า บัดนี้ ท่านสร้างบารมีครบถ้วนแล้ว จะตายวันนี้วันพรุ่งนี้ เราก็พร้อมที่จะตาย ถ้าเป็นอย่างนี้เรียกว่าใช้ได้

        การอธิษฐานที่สำคัญ ได้แก่ การอธิษฐานเป็นสัพพัญญูพระพุทธเจ้า เป็นอัครสาวก อุปัฏฐากสาวก อสีติสาวก เป็นพุทธบิดา พุทธมารดา ท่านให้ทำในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา

        อยากจะพูดให้พิสดาร แต่ไม่อาจทำได้ตามที่คิด จึงกล่าวย่นย่อพอเป็นแนว ขอท่านได้โปรดพิจารณาตามสมควรเถิด

 

อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือคู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 145