255. คำของหลวงพ่อที่ว่า “เรียนวิชาธรรมกาย เหมือนกันเราขี่เสือ ลงจากหลังเสือเมื่อไร ? ถูกเสือกัดเมื่อนั้น” มีความหมายอย่างไร ?
คำกล่าวนี้ หลวงพ่อพูดกับแม่ชีถนอม อาสไวย์ แล้วแม่ชีถนอมท่านก็นำมาเล่าให้ลุงฟัง ความหมายของประโยคนี้ เป็นดังต่อไปนี้
เราเรียนวิชาธรรมกาย ก็คือเรารู้เท่าทันมาร เพราะเราได้รู้เราได้เห็น และเมื่อเราเดินวิชา คือเดินวิชา 18 กายไว้เสมอ กายก็ใสและดวงธรรมก็ใส นี่คือหลัก แต่ว่ามารเขาทำวิชาปกครองทุกวัน ทำแล้วก็ยิงวิชาปกครองออกไป วิชานั้นไปถูกใคร? ใจของผู้นั้นก็มัวหมองด้วยอานุภาพวิชาของมาร ผลที่เกิดแก่เราคือไม่ดีทั้งนั้น อารมณ์ขุ่นมัว การงานไม่ดี มีปากเสียงกับเพื่อน เสียเงิน แม้วิชาที่เราเรียนอยู่ก็เกิดการสับสน นี่คืออานุภาพวิชาของมาร หากเราเดินวิชาเข้าไว้ ก็เหมือนกับเราป้องกันตัวได้ เปรียบแล้วก็เหมือนฝนตก ย่อมจะเปียกไปทั่ว แต่เรากางร่มไว้แล้ว ฝนก็ไม่เปียกตัวเรา การลงจากหลังเสือก็คือไม่เดินวิชาไว้เนืองๆ นั่นเอง
แต่ก่อนนี้ ลุงไม่รู้ พอทำวิชาปราบมารเข้าปีที่ 17 จึงได้รู้เรื่องว่ามารเขาทำวิชาปกครองทุกวัน เปรียบไปแล้วก็เหมือน ส.ส.บ้านเราออกกฏหมาย กฏหมายนั้นเมื่อออกมาแล้ว มีผลบังคับทันที แม้เราไม่อยากเสียภาษี แต่เราก็ต้องนำเงินไปจ่ายแก่รัฐ เพราะอำนาจบังคับของกฏหมาย โปรดจำไว้ว่า วิชาของมารมีอานุภาพทั้งนั้น เขาจะให้มนุษย์เป็นอย่างไร ? เขาทำได้ทันที ประหนึ่งว่าเรากด “รีโมท” เปลี่ยนช่องโทรทัศน์ทีเดียว
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือปุจฉาวิสัชชา วิชาธรรมกายฯ หน้า 131