บทที่ ๑
การฝึกเบื้องต้นให้เห็นดวงธรรม และเห็นธรรมกาย
ลำดับความเบื้องต้นโดยพิสดาร
ก.) พระพุทธศาสนา คือคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราทั้งหลายละเว้นการทำบาปด้วยกาย วาจา และ ใจ ให้ทำกุศลด้วย กาย วาจา และใจ และทำใจให้ใสบริสุทธิ์ ตามคำสอนที่ว่า
๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำกุศลทุกอย่างให้พร้อมสรรพ
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การทำใจให้ใสบริสุทธิ์
เมื่อเรา “ตั้งใจมั่น” ในคำสอนแล้ว เราจะเอา “ใจ” ของเรา ไป “ตั้งมั่นคง” ไว้ตรงไหน จึงจะถูกหลักของ “มัชฌิมาปฏิปทา” ซึ่ง แปลว่า “ทางสายกลาง” นั่นคือ ตั้งใจมั่นไว้ที่ “กลาง” และกลางก็คือ “กลางศูนย์กลางกาย” ศูนย์กลางกายก็คือ ตรงฐานที่ ๗ เหนือสะดือ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือตัวเอง อยู่ในท้องของเราทุกคน ให้เอาใจของเราไปตั้งมั่นคงไว้ตรงนั้น
ข.) เราเอา “ใจ” ไปตั้งมั่นคงตรงฐานที่ ๗ คือ “ศูนย์กลางกาย” เพื่ออะไร
เพื่อให้ใจมั่นคงว่า เราจะไม่ทำบาปตรงนั้น
เพื่อให้ใจมั่นคงว่า เราจะทำกุศลตรงนั้น
เพื่อให้ใจมั่นคงว่า เราจะทำใจให้ใสตรงนั้น
จะให้ใจมั่นคงที่อื่นไม่ได้มั่นคงได้เฉพาะที่ศูนย์กลางกายเท่านั้น จึงจะถูก “ทางสายกลาง” ของพระพุทธองค์
คำสอนที่ว่าไม่ทำบาปทั้งปวง และทำกุศลให้ถึงพร้อมนั้น เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปแล้วไม่ต้องอธิบาย
ส่วนข้อที่ว่า “ทำใจให้ใส” นั้น มีหลักฐานที่มา เป็นตำรับตำราดังคำบาลี ดังต่อไปนี้
ค.) ตำราคำบาลีที่ว่านั้น คือ
– เทฺว เม ภิกฺขเว วิชฺชาภาคิยา
(ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย วิชชามี ๒ อย่าง)
– กตเม เทฺว
(๒ อย่างนั้น ได้แก่อะไรบ้าง)
– สมโถ จ วิปสฺสนา จ
(สมถะ แปลว่า ความสงบระงับ ๑ และวิปัสสนา แปลว่า ความเห็นแจ้ง ๑ รวมเป็น ๒)
– สมโถ ภาวิโต กิมตฺถมนุโภติ
(สมถะ คือ ความสงบระงับ เป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร)
– จิตฺตํ ภาวิยติ
(ต้องการให้จิตเป็นขึ้น)
– จิตฺตํ ภาวิตํ กิมตฺถมนุโภติ
(จิตเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร)
– โย ราโค โส ปหียติ
(ความกำหนัดยินดีอันนั้นหมดไป ด้วยอำนาจสมถะความสงบระงับนั้น)
– วิปสฺสนา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ
(วิปัสสนาคือ ความเห็นแจ้ง เป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร)
– ปญฺญา ภาวิยติ
(ต้องการทำปัญญาให้เป็นขึ้น)
– ปญฺญา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ
(ปัญญาเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร)
– ยา อวิชฺชา สา ปหียติ
(ความไม่รู้จริงอันใดที่มีอยู่ในจิตใจ ความไม่รู้จริงอันนั้นหมดไป ด้วยอำนาจของวิปัสสนา ความเห็นแจ้ง)
สรุป วิชาในพุทธศาสนามี ๒ อย่าง คือ สมถะ แปลว่า ความสงบระงับ และ วิปัสสนา
แปลว่า ความเห็นแจ้ง
สมถะ เป็นความรู้เบื้องต้น
วิปัสสนา เป็นความรู้ขั้นสูงกว่าสมถะ
ความรู้สมถะและความรู้วิปัสสนา เกื้อกูลกัน ทำสมถะได้แล้ว จึงขึ้นระดับวิปัสสนา สมถะเป็น
เบื้องต้น วิปัสสนาเป็นขั้นสูง
เรียนสมถะเป็นแล้ว จึงเรียนวิปัสสนาได้ ถ้าเรียนขั้นสมถะไม่ได้ ระดับวิปัสสนาเป็นอันหมดหวัง
จะเรียนระดับวิปัสสนาทันทีโดยไม่เรียนขั้นสมถะเลยนั้น ทำไม่ได้ เรียนไม่ได้ทีเดียว
ความรู้อะไรเป็นขั้นสมถะ และความรู้อะไรเป็นขั้นวิปัสสนา จะได้กล่าวต่อไป
จงทำความเข้าใจคำ “สมถะ” และ “วิปัสสนา” ให้ถูกต้อง และเข้าใจหลักสูตรของสมถะ
กับหลักสูตรของวิปัสสนาให้ถูกต้อง ให้ได้กฎเกณฑ์
ง.) การตั้งใจมั่นที่ศูนย์กลางกายวันนี้ ก็เพื่อจะทำใจให้ “ใส” ให้ “สงบระงับ” อันเป็นเบื้องต้นของ “สมถะ”
สมถะ แปลว่าสงบระงับ แปลว่า “หยุด” แปลว่า “นิ่ง” เราต้องทำใจ “สงบระงับ” ทำใจ “หยุด”
ทำใจ “นิ่ง”
ที่ว่า “ทำใจ” นั้น ทำที่ไหน
ทำที่ “ศูนย์กลางกาย”
“ใจ” คืออะไร
“ใจ” คือ เห็น จำ คิด รู้ รวม ๔ อย่างนี้เป็น “จุดเดียวกัน” เรียกว่า “ใจ”
ให้ “ใจ” ทำอะไร ที่ศูนย์กลางกาย
ให้ใจสงบระงับ ให้ใจหยุด ให้ใจนิ่ง ให้ใจใส ให้ใจสว่าง ที่ศูนย์กลางกายนั้น
ถ้าทำใจหยุดไม่ได้ ทำใจนิ่งไม่ได้ แปลว่า ยังไม่เข้าเบื้องต้นของ “สมถะ” เลย
ต่อเมื่อทำใจหยุดได้และนิ่งได้ จนเห็นดวงปฐมมรรค (ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) ที่ศูนย์กลางกาย เป็นดวงแก้วขาวและใสประดุจเพชรที่เจียระไนแล้ว ขนาดเท่าฟองไข่แดงของไก่ จึงเรียกว่าเข้าภูมิของ “สมถะ””เบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่เข้าขอบข่ายวิปัสสนาเลย
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือคู่มือวิปัสสนาจารย์ หน้า 24