พบกรุวิชาปกครองของมาร
๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๗
ข้อมูลที่พบ
พบกรุวิชาปกครองของมารมีหลายวิชา ไม่ใช่มีเพียงทุกข์สมุทัยและปิฎกธาตุปิฎกธรรมเท่านั้น แท้จริงแล้วมีหลายอย่าง
วิชาปกครองของมาร มีดังนี้ คือ
- ทุกข์-สมุทัย
- ปิฎกธาตุ-ปิฎกธรรม
- ดับอธิษฐาน-ถอนปาฏิหาริย์
- อิทธิบาทภาวนาธาตุ-อิทธิบาทภาวนาธรรม
- คำนวณธาตุ-คำนวณธรรม
ความรู้หลัก
ความหมายของปิฎกธาตุปิฎกธรรม
(๑.) เป็นวิชาหลัก เป็นวิชาตัวยืน เป็นวิชาประธานใหญ่
(๒.) เป็นวิชาเจือเข้าไปในวิชาปกครองของมารทุกวิชา
สรุปแล้ว วิชาปกครองของมารทุกวิชาเป็นรูปแบบปิฎกธาตุปิฎกธรรมจากเบื้องต้น ชั้นกลาง และชั้นปลาย ต้น-กลาง-ปลาย ยังมี อ่อน-แก่-หยาบ-ละเอียดอีกด้วย การตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้าภาคขาวในอดีตที่ผ่านมานั้น มารเขายอมให้ตรัสรู้แค่ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์เบื้องต้นเท่านั้น ส่วน ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ระดับกลางและระดับปลาย ยังไม่ได้ตรัสรู้ แล้วก็ต้องสิ้นพระชนม์เมื่ออายุ ๘๐ ปีทุกพระองค์ ทำไมต้องตายเมื่ออายุ ๘๐ ปี?
ถามว่า ทำไมเป็นเช่นนั้น?
ตอบ มารเขาจัดระเบียบไว้อย่างนั้น เป็นกฎเกณฑ์ของมารที่เขานำมาใช้กับพระพุทธภาคขาว ตอบชัดเจนแล้ว
ความรู้ใหม่
วิชาปกครองของมารที่พบใหม่ ๓ วิชา คืออะไร?
๑. วิชาดับอธิษฐาน-ถอนปาฏิหาริย์
มารอธิษฐานไว้ว่า อธิษฐานไม่ให้ภาคขาวเห็นวิชาของเขา อธิษฐานไม่ให้แก้วิชาของเขาได้ หากภาคขาวตรัสรู้วิชาได้ดี มารเขาก็ถอนวิชาส่วนวิเศษนั้นได้ “ถอนปาฏิหาริย์”
๒. วิชาอิทธิบาทภาวนาของมาร
หมายถึง วิชาที่มารเขาใช้สกัดการตรัสรู้ของวิชาภาคขาวไม่ให้ก้าวไกลเกินของข่ายที่มารกำหนด
ฉันทะ-วิริยะ-จิตตะ-วิมังสา ตามใจชอบของภาคขาวนั้น กระทำมิได้กระทำได้ในแวดวงที่มาร อนุญาตเท่านั้น
๓. วิชาคำนวณธาตุคำนวณธรรมของมาร
เป็นวิชาหมัดตายของเขา เป็นวิชาสำคัญของเขา มารเขาคำนวณวิชาของเขาไม่ให้ภาคขาวแก้วิชาของเขาได้ มารเขาคำนวณวิชาของเขาไม่ให้ภาคขาวรู้เห็นวิชาของเขา การทำวิชาของมาร เขาก็ต้องทำให้ละเอียดกว่าวิชาภาคขาวเสมอไป
ข้อควรพิจารณา
ถามว่า เรื่องสำคัญในวิชาปกครองของมาร คืออะไร?
ตอบ วิชาปกครองของมารเป็นปิฎกธาตุปิฎกธรรมทั้งหมด ปิฎก คือ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ มีเป็นภาคต้น ภาคกลาง และภาคปลาย ต้น-กลาง-ปลาย มีอ่อน-แก่-หยาบ-ละเอียด เป็น เถา-ชุด-ชั้น-ตอน-ภาค-พืดฯ
ถามว่า เก็บคลังวิชาของมารเป็นอย่างไร?
ตอบ เหมือนสถานที่เก็บอาวุธในกองทัพ มีคนควบคุม มีคนกำกับ ผู้ปกครองเป็นผู้สั่ง แล้วก็ปล่อยกำลังพลเคลื่อนอาวุธออกรบ
ความยากอยู่ที่ว่า ใครจะมีวิชาดี? คำนวณวิชาจนไปถึงขั้นพบเห็นที่เก็บอาวุธของมาร ใครจะเป็นผู้ไปพบ? ใคร?? เพราะยังไม่มีใครไปพบเห็นเลย
ถามว่า ภาคขาวมีอยู่ตั้งเท่าไร? แต่มีใครไปพบเห็นบ้าง?
ตอบ ไม่มีเลย! น่าเจ็บใจจริงๆ! ก็เพราะไม่มีใครมีความรู้ไปทำลายกองทัพอาวุธมาร มารเขาจึงใช้อาวุธนั้นมาปกครองพวกเรา
ถามว่า พระพุทธเจ้าของภาคขาวมีจำนวนมากนับไม่ถ้วน มีบ้างไหมที่สืบรู้สืบญาณไปรู้เห็น?
ตอบ ไม่มี! เพราะในตอนนั้น มารเป็นผู้ปกครองนิพพาน เขาห้ามไม่ให้ไปแต่ต้องนั่นเอง ตอนนี้มารไม่ได้ปกครองนิพพานแล้ว ข้าพเจ้าจึงไปรู้เห็นได้ ดังบรรยายมานี้
ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะทำวิชาดับวิชาปกครองของมารให้หมดได้? วิชาปกครองของมารมีแค่นี้หรือ?
ยังตอบไม่ได้ แต่วันนี้พบแค่นี้ ต่อไปจะพบอะไรอีกหรือไม่? ยังตอบไม่ได้ การค้นวิชานั้น ถ้ารบชนะ เราก็พบอะไรอีก หากรบไม่ชนะ ความรู้ของเราก็อยู่ที่เดิม
ข้อสังเกต
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคืออะไร?
วิชาปกครองของมาร เราเคยพบเพียง ๒ วิชาเท่านั้น คือ
- วิชาทุกข์-สมุทัย
- ปิฎกธาตุ-ปิฎกธรรมของมาร
เราทราบแค่นี้แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว! การได้มาพบวิชาปกครองของมารชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะการค้นคว้า ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วจะพบได้ ต้องทำวิชารบอย่างไม่หยุดหย่อน
นี่คือ “ประกอบเหตุอะไร? จึงได้ผลเช่นนี้” (หลวงพ่อสอนว่า ประกอบเหตุ สังเกตผล)
ความรู้พื้นฐาน
ถามว่า คำว่าปิฎกธาตุ-ปิฎกธรรมของมาร มีความหมายอย่างไร?
ตอบว่า ปิฎกธาตุ-ปิฎกธรรมของมารมี ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เป็นชุดไป ละเอียดเข้าไปเรื่อย มีอ่อน-แก่-หยาบ-ละเอียด
ปิฎกธาตุ-ปิฎกธรรมของมาร ได้แก่
อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฐิ
โลภะ โทสะ โมหะ
ราคะ โทสะ โมหะ
กามราคานุสัย …ฯ ลงท้ายด้วย อวิชชา (แถวละ ๓ ศัพท์)
ความหมาย คือ เห็น-จำ-คิด-รู้ ล้วนแต่ไม่ดีทั้งนั้น ดังตัวอย่างที่ยกมานี้ ถูกหุ้มด้วยกิเลสนานา ส่งผลให้ “ใจ” มืดบอด
ปิฎกมารที่ละเอียดเป็นดวงไม่ใส เป็นสีต่าง ๆ ขุ่น มัว ดำ มารเขาใช้ยิงเข้ามาใน “ใจ” ของธรรมภาคขาว เป็นชุด ๆ ละ ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์
(พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ เป็นหนังสือปกแข็งจำนวน ๔๕ เล่ม ดังที่เห็นในห้องสมุดนั้น แต่ความหมายในทางวิชาธรรมกายเป็นธาตุละเอียด เป็นสีต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น)
การค้นคว้าวิชาวันนี้ มาถึงเรื่องปิฎกของมาร ข้าพเจ้าพบแล้วว่าอยู่ที่ใด? ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าทำอย่างไรเราจึงจะดับปิฎกของมารได้? ใครจะเป็นคนทำวิชา? ความรู้เรื่องนี้ลึกลับมาก ไม่มีใครรู้ทั้งนั้น!!!
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือปราบมาร ภาค 6 หน้า 247