ที่ว่าพระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งโลก ๓
คือโลกวิทู นั้น คืออย่างไร?
โลกมี ๓ อย่างคือ สังขารโลก สัตว์โลก และโอกาสโลก อธิบายว่า โลกคือที่อยู่ของสัตว์เป็นที่สร้างกุศลและสร้างอกุศล เป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์โลก
๑. สังขารโลก
คือ โลกที่มีอาหารหล่อเลี้ยง อาหารที่หล่อเลี้ยงมี ๔ ประเภทคือ
(ก.) กวฬิงการาหาร ได้แก่ อาหารที่เป็นคำ ๆ เช่น ข้าว ส่วนละเอียดของอาหาร เรียกว่า โอชะ เข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกาย โอชะนี้มีความละเอียดเข้าไปเป็นชั้น ๆ เช่น มนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม และนิพพาน โอชะก็มีความละเอียดต่างกัน อาหารเป็นปัจจัยให้เกิดรูป และโอชะทำให้เกิด ๘ ประการ คือ ปฐวี อาโป เตโช วาโย วณโณ คนโธ รโส โอชา นั่นคือ เกิดเป็นธาตุ ๔ เกิดเป็นผิวพรรณ เรียกว่า “กลละรูป” คือ เกิดเป็น “รูป” การกินอาหารของมนุษย์ก็กินเป็นคำ ๆ แต่สัตว์บางอย่างไม่กินเป็นคำ ๆ กลืนเข้าไปทั้งตัวเช่น ปลา จระเข้ เป็นต้น แต่ก็ถือว่าเป็นคำหนึ่งของเขา
(ข.) ผัสสาหาร คำว่า “ผัสสะ” แปลว่า กระทบ หมายถึง การกระทบกันทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่า “ผัสสะ ๖” เมื่ออะไรมากระทบผัสสะ ๖? ก็เรียกชื่อผัสสะนั้น ๆ เช่น รูปมากระทบตาก็เรียกว่า “จักขุผัสสะ” เป็นต้น การสัมผัสเช่นนี้เป็นอาหาร หากการกระทบนั้นเป็นอารมณ์ดี ก็เรียกสุขเวทนา อารมณ์ไม่ดี ก็เรียกทุกขเวทนา และอารมณ์ไม่ดีและไม่ชั่ว ก็เรียกอุเบกขาเวทนา นี่คือหลักของเวทนา ๓ นั่นเอง คนนอนหลับอยู่ได้เพราะอุเบกขาเวทนา พระสารีบุตรยืนกั้นร่มให้แก่พระพุทธองค์ ๗ วันโดยไม่หิวโหยก็เพราะผัสสะเช่นนี้ และสัตว์นกอยู่ในนรกได้ก็เพราะผัสสาหารทางชั่ว
(ค.) มโนสัญเจตนาหาร ได้แก่ การคิดอ่านทางใจ ใจประกอบการกุศล นั่นเป็นอาหารทางใจ ส่งผลให้ไปสุคติ แต่ถ้าประกอบอกุศลก็ส่งไปทุคติ เจตนาเป็น “ตัวกรรม” ตามบาลีว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว วทามิ แปลว่า เจตนานั้นเองเป็นตัวกรรม
(ง.) วิญญาณาหาร คำว่า “วิญญาณ” แปลว่า ความรู้แจ้ง ความรู้แจ้งเป็นอาหาร ดังนั้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงเป็นที่รองรับวิญญาณ วิญญาณจึงเป็นอาหารให้เกิดนามรูปได้ เช่น วิญญาณ ปัจจยา นามรูปัง แปลว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
๒. สัตว์โลก
คือ พระพุทธเจ้าทรงรู้ธรรมอันเป็นที่มาของการปรุงแต่งใจของมนุษย์ มนุษย์มีความเชื่อไม่เหมือนกัน บางพวกเชื่อว่าตายแล้วสูญ บางพวกเชื่อว่าตายแล้วไม่สูญ พระองค์ทรงเห็นว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ทำดีได้ดีและทำชั่วได้ชั่ว ติดตามตัวไปในภพเบื้องหน้า นี่คือหลักของ “ยถาภูตญาณทัสสนะ”
อนุสเย ชานาติ ทรงรู้แจ้งถึงอนุสัย ๗ ประการ คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย มานานุสัย อวิชชานุสัย คืออนุสัยเหล่านี้ปรุงแต่งใจมนุษย์ จริตัง ชานาติ ทรงรู้แจ้งจริตแห่งสัตว์โลก ๖ ประการ คือ ราคะจริต โทสจริต โมหะ วิตกจริต สัทธาจริต พุทธิจริต
อธิมุตตัง ชานาติ ทรงรู้แจ้งนิสัยต่ำสูง ความเป็นใจบาปแห่งสัตว์ทั้งหลาย ความมีกิเลสหนาบางของสัตว์ทั้งหลาย ทรงรู้แจ้งในอินทรีย์ ๕ ของสัตว์ทั้งหลาย คือรู้แจ้งในศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่า อินทรีย์ ๕ แล้วก็หาวิธีสั่งสอนเขาเหล่านั้น
สวากาเร ทวากาเร ชานาติ ทรงรู้ว่าสัตว์โลกใดแก้ไขได้หรือไม่ได้? รู้อาการดีอาการชั่ว รู้ว่าปัญญาดีปัญญาน้อย
ภพฺเพ อภพฺเพ ชานาติ รู้ว่าพวกใดโปรดได้ พวกใดโปรดไม่ได้?
๓. โอกาสโลก
คือ สภาพซึ่งรองรับซึ่งกันและกัน คืออากาศรับรองธาตุไฟ ธาตุไฟรับรองธาตุน้ำ ธาตุน้ำรับรองธาตุดิน ธาตุดินรับรองเขาตรีกูฏ เขาตรีกูฏรับรองเขาพระสุเมรุ เขาพระสุเมรุรับรองสวรรค์ชั้น ๑ คือชั้นจาตุมหาราชา
ชั้นจาตุมหาราชารับรองชั้นดาวดึงส์ ชั้นดาวดึงส์รับรองชั้นยามา ชั้นยามารับรองชั้นดุสิต ชั้นดุสิตรับรองชั้นนิมมานรดี ชั้นนิมมานรดีรับรองชั้นปรนิมมิตวสวดี สวรรค์รับรองพรหมโลก คือปรนิมมิตวสวดีรับรองพรหมปาริสัชชา พรหมชั้นปาริสัชชารับรองพรหมปุโรหิตา พรหมชั้นปุโรหิตารับรองพรหมมหาพรหมมา-ปริตตภา-อัปปมานาภา-อาภัสสรา-ปริตตสุภา-อัปปมาณสุภา-สุภกิณหา-เวหัปผลา-อสัญญีสัตตา-อวิหา-อตัปปา-สุทัสสา-สุทัสสี-อกนิฏฐา-อากาสานัญจายตนะ-วิญญาณัญจายตนะ-อากิญจัญญายตนะ-เนวสัญญานาสัญญายตนะ
กล่าวถึงส่วนสูง (มนุสสโลกโตปัฏฐาน) ตั้งแต่มนุษยโลกขึ้นไปถึงชั้นจาตุมหาราชิกาวัดได้สี่หมื่นสองพันโยชน์ (กายเทวดาสูงร้อนเส้น ใหญ่พอสมควร อายุห้าร้อยปีทิพย์นับเป็นปีของมนุษย์ได้เก้าล้านปี) ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกาขึ้นไปถึงขั้นดาวดึงส์ วัดได้สี่หมื่นสองพันโยชน์ตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไปถึงชั้นยามาวัดได้สี่หมื่นสองพันโยชน์ ตั้งแต่ชั้นยามาไปถึงชั้นดุสิตวัดได้สี่หมื่นสองพันโยชน์ ตั้งแต่ชั้นดุสิตไปถึงชั้นนิมมานรดีวัดได้สี่หมื่นสองพันโยชน์ ตั้งแต่ชั้นนิมมานรดีไปถึงขั้นปรนิมมิตวสวดีวัดได้สี่หมื่นสองพันโยชน์ตั้งแต่ชั้นปรนิมมิตวสวดีขึ้นไปอีก ห้าล้านห้าแสนแปดพันโยชน์ถึงพรหมโลกชั้นปาริสัชชา และลำดับไปถึงชั้นพรหมต่าง ๆ มีระยะทางเท่ากัน จนถึงพรหมโลกชั้นเนวสัญญานา สัญญายตนะมีความสูงเท่า ๆ กัน ดังนี้
(ก.) สิ่งที่รองรับพรหมโลก คือธาตุ ๖ และขันธ์ ๕ ว่ามีความหนาเท่าไร? หลวงพ่ออธิบายไว้ว่า ธาตุ ๖ ขันธ์ ๕ ธาตุส่วนหยาบที่มีตามปกติคือ
ดินหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์
น้ำหนา ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์
ไฟหนา ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์
ลมหนา ๑,๙๒๐,๐๐๐ โยชน์
วิญญาณหนา ๓,๘๔๐,๐๐๐ โยชน์
อากาศ สุดประมาณ (มากมาย)
อากาศหนาลงไปไม่มีที่สิ้นสุด เช่น ภพ ๓ นี้ จะเห็นว่าอากาศที่อยู่รอบภพก็ไปจรดกับภพที่อยู่รอบ ๆ ออกไป ข้างล่างจรดขอบบนของโลกันต์ ข้างบนจรดขอบล่างของนิพพาน ทุก ๆ ระหว่างของภพเหล่านี้มีพระพุทธเจ้ารักษาอยู่ทั้งนั้น
ธาตุ ๖เหล่านี้ ความจริงเป็นเพียงธาตุส่วนที่เรียกว่า “โอกาสโลก” และธาตุในส่วนที่เป็น “ขันธโลก” นั้น มีความละเอียดยิ่งกว่าธาตุปกติธรรมดามากมาย หลายพันเท่าทวีทีเดียวเพราะเหตุว่าขันธ์นั้นเป็นธาตุละเอียดที่กลั่นมาจากธาตุหยาบอีกต่อหนึ่ง นั่นเอง ขันธ์จึงไม่ใช่ธาตุหยาบอย่างธรรมดา เปรียบไปแล้วก็เหมือนน้ำธรรมดากับน้ำกลั่น นั่นเอง
(ข.) กล่าวถึงเครื่องกลั่นธาตุ ซึ่งเป็นความรู้ชั้นสูง หลวงพ่ออธิบายว่า เครื่องกลั่นธาตุตั้งอยู่ในศูนย์กลางธาตุ ๖ ปริมาณความใหญ่โตของเครื่องก็เต็มธาตุนั้น เครื่องมีหลายเครื่องทำงานส่งต่อกันไป เหมือนเครื่องจักรในโรงงาน คือเครื่องแรกกลั่นธาตุเหล่านี้แล้ว ก็เอาส่วนที่กลั่นแล้วนี้ส่งต่อไปยังเครื่องกลั่นที่ ๒-๓-๔-๕-๖-๗ ต่อไปเป็นลำดับ และเมื่อเครื่องที่ ๗ กลั่นเสร็จแล้ว ก็ส่งธาตุที่กลั่นแล้วนั่นเข้ามาที่เครื่องศูนย์กลางของภพ ๓ นี้
การส่งธาตุนั้น ส่งโดยอายตนะของเครื่องที่ ๗ กับเครื่องในภพ ๓ และเมื่อเครื่องในภพ๓ รับมาแล้ว ก็เอามาเข้าเครื่องสำเร็จเก็บไว้เป็น “เซฟทะเล” (เซฟทะเล แปลว่า มากมายเหลือคณานับ ประดุจความเวิ้งว้างของทะเล) เมื่อเซฟทะเลรับธาตุมาแล้วจะทำอย่างไรต่อไป? ศูนย์กลางของภพ ๓ ก็เอามาทำเป็นขันธ์ ๕ ขึ้น ประกอบได้สำเร็จพอดีกับ “ปฐมวิญญาณ” (กายที่ต้องอาศัยขันธ์) ขันธ์ที่ประกอบไว้แล้วนั้นเป็นส่วนเฉพาะของกายหนึ่ง ๆ ไม่มีปนเปกันส่วนดีส่วนชั่ว และส่วนธรรมภาคกลางคือไม่ดีแต่ไม่ชั่ว เป็นส่วน ๆ ไป มีผู้คุมไว้เป็นส่วน ๆ (ตรงนี้ ต้องทำความเข้าใจภาษา “ปฐมวิญญาณ” คือดวงปฐมมรรค นั่นเอง ดวงปฐมมรรคของกายใด? ก็เป็นกายนั้น เช่นของกายมนุษย์ กายทิพย์ กายพรหม…ฯ เป็นต้น ความยากอยู่ที่มารเขาก็ทำของเขา และภาคกลางเขาก็ทำของเขา ทำแล้วเขาก็เอามาซ้อนทับลงไปในของภาคขาว เราเสียท่าตรงนี้ ดวงธรรมของเราไม่ใสเป็นเพราะเหตุนี้ เพราะมารเขาก็ทำมาซ้อนไว้ เพื่อให้เราตกอยู่ในบังคับของเขา หลวงพ่ออธิบายว่า เมื่อทำแล้วก็แยกเป็นส่วน ๆ คือ ของภาคขาว ของภาคมาร ของภาคกลาง ใครสร้างบุญ? ภาคขาวก็เอาธาตุสะอาดให้ ใครทำบาป? มารเขาก็เอาธาตุสกปรกให้ ใครอยู่เฉย? บุญไม่ทำกรรมไม่สร้าง ภาคกลางก็เอาธาตุของภาคกลางให้ มารเขาถือว่าใครทำบาป? เขาปกครอง ภาคกลางเขาถือว่าใครอยู่เฉย ๆ บุญไม่ทำกรรมไม่สร้าง ภาคกลางเขาถือว่าเขาปกครอง)
(ค.) กล่าวถึง การส่งธาตุละเอียดมาให้แก่ผู้มาเกิดว่ามีขั้นตอนอย่างไร? หลวงพ่ออธิบายว่า เวลาที่จะส่งมาเป็นกายนั้น กายทิพย์ของผู้จะเกิดอยู่ที่ศูนย์กลางของภพ เครื่องใหญ่ที่ประกอบธาตุเป็นขันธ์เสร็จแล้ว ก็ส่งมายังภพนั้น แล้วก็ส่งต่อจากภพมาสู่เครื่องที่ศูนย์กายของผู้เป็นบิดา ซึ่งธาตุสำเร็จนี้มีขนาดเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทรเท่านั้น หากเป็นชายเข้าทางจมูกขวาของบิดา ถ้าเป็นหญิงเข้าทางจมูกซ้ายของบิดา วันที่ถ่ายจากบิดาไปสู่มดลูกของมารดานั้น ถ้าผู้มาเกิดเป็นหญิงก็เข้าทางปากช่องจมูกมารดาข้างซ้าย และถ้าผู้เกิดเป็นชายก็เข้าปากช่องจมูกมารดาข้างขวา ตามหลักของฐาน ๗ ฐาน แล้วก็ไปสุดที่มดลูกของมารดา
(ง.) กล่าวถึงผู้ตายว่าธาตุละเอียดของขันธ์นี้จะไปอยู่อย่างไร? ตำราบอกว่า ธาตุขันธ์ ละเอียดนี้จะเก็บไว้ที่เดิม คือมาจากไหน? ก็จะเก็บไว้ที่นั่น นี่คือความรู้ที่ไม่มีใครอธิบายได้ แต่หลวงพ่อท่านอธิบายได้หมด คราวนี้ก็มาถึงความรู้สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือกายละเอียดอื่น ๆ ของเราจะได้ขันธ์มาจากไหน? ตอบว่าขันธ์ของกายมนุษย์กลั่นตัวไปเป็นขันธ์ของกายทิพย์ และขันธ์ของกายทิพย์ก็กลั่นไปเป็นขันธ์ของกายพรหม แต่ละกายก็กลั่นกันต่อ ๆ ไป
การจะอ่านให้รู้เรื่องจะต้องมีความรู้เดิมด้วย
เช่น เรื่องธาตุ ๖ และขันธ์ ๕
ธาตุ ๖ คือ ธาตุดิน-ธาตุน้ำ-ธาตุลม-ธาตุไฟ-อากาศธาตุ-วิญญาณธาตุ รวมเป็น ๖ ซึ่งที่ตั้งของพรหมโลกนั้นตั้งอยู่บนธาตุ ๖ ไม่ว่าสวรรค์ ๖ ชั้น พรหม ๑๖ ชั้น อรูปพรหม ๔ ชั้น ตั้งอยู่บนธาตุ ๖ ทั้งนั้น รวมทั้งโลกของเราด้วย นิพพานก็ตั้งอยู่บนธาตุ ๖ ขันธ์ ๕ คือ รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ รูปคือกาย และเวทนาคือเห็น สัญญา คือจำ สังขารคือคิด (ไม่ใช่ร่างกาย) วิญญาณคือรู้ ดังนั้นขันธ์ ๕ คือกายกับใจ เพราะใจคือ เห็น-จำ-คิด-รู้ เป็นดวง และกายก็เป็นดวง นั่นคือดวงเป็น “สุดละเอียด” เนื้อตัวของเราคือสุดหยาบ ใจ ก็คือดวงใสซ้อนกันอยู่ ๔ ดวง
เครื่องเกิดจากอะไร? เครื่องเกิดจากเอาธาตุมาหมุน ของภาคขาวหมุนขวา ของมารหมุนซ้าย ให้หมุนขวาไปจนกว่าจะเกิดความใสและงวดตัวเหลือน้อยเข้ามา เช่นเราตักน้ำมาหมุนในอ่างตะกอนของน้ำจะรวมตัวกัน เราตักตะกอนทิ้ง จำนวนน้ำในอ่างจะเหลือเล็กน้อย เพราะเราตักตะกอนทิ้ง กวนน้ำไปเรื่อย ๆ และคอยตักตะกอนทิ้งไปเรื่อย ๆ น้ำในอ่างก็จะเหลือน้อยลงอีก คือน้ำจะเกิดความใสขึ้นมาเรื่อยๆ และจำนวนก็จะลดลงเรื่อย ๆ สุดท้ายจะเป็นน้ำที่เราต้องการ นี่คือการเปรียบเทียบให้ดูเท่านั้น กลั่นก็คือการนำมารวมกัน แล้วทำให้เกิดความใส เช่นเรานำน้ำมาต้มให้เป็นไอ ไอคือน้ำที่เราต้องการ นี่คือตัวอย่างแบบหยาบ ๆ ที่ยกมาให้เห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ท่านต้องไปอ่าน “วิชชามรรคผลพิสดารภาค ๑-๒” รวม ๒ หลักสูตรให้ได้ทุกบทจึงจะเกิดความเข้าใจวิชายาก ๆ ข้าพเจ้าเกรงว่าวิชาของหลวงพ่อจะสูญ จึงนำมาสรุปย่อไว้ เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เรียนกัน เวลานี้ไม่มีผู้มีความรู้อธิบายได้แล้ว
เรื่องวิชชาและจรณะนี้ สรุปย่อมาจากเทศน์ของหลวงพ่อ จากหนังสือ “ธรรมกาย” ของวัดปากน้ำ เห็นว่าเป็นความรู้สำคัญ อีกทั้งยังนำเรื่องพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ มารวมไว้ด้วยเกรงว่าความรู้เหล่านี้ยากที่ใครจะอธิบายได้แล้ว จึงทำเป็นสรุปย่อ หากท่านใดอยากรู้ละเอียด? ก็จงค้นหาได้จากตำราเล่มที่กล่าวนั้นได้ตามต้องการ
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือปราบมาร 5 หน้า 143