วิชชาและจรณะเกี่ยวข้องกันอย่างไร? มีความหมายอย่างไร?

      ทั้ง “วิปัสสนา” และ”จรณะ” ก็คือวิชชาด้วยกันทั้งคู่ แต่จรณะเป็นบาทของวิชชา คือ จรณะเป็นเบื้องต้น ส่วนวิปัสสนาสูงกว่าจรณะ ต้องมีจรณะก่อนแล้วจึงจะถึงวิชชา จรณะเป็นประถมศึกษา วิปัสสนาเป็นมัธยมศึกษา นั่นเอง

      จรณะ แปลว่า ประพฤติหรือธรรมควรประพฤติ มี ๑๕ คือ

(๑.) ศีลสังวร การสำรวมศีล คือสำรวมในพระปาฏิโมกข์

(๒.) อินทรียสังวร การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ การสำรวม กาย ใจ หู ตา จมูก ลิ้น ไม่ให้อารมณ์ชั่วเข้ามาได้ พระอริยเจ้าสำรวมได้ดีกว่าปุถุชน

 (๓.) โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภค

(๔.) ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียรให้ใจตื่นอยู่เสมอ ไม่ให้นิวรณ์เข้าครอบงำได้

(๕.) สัทธา คือการกระทำด้วยความเชื่อ เชื่อว่าการบริจาคทานเป็นความดี

(๖.) สติ ได้แก่การระลึกได้ การระลึกรู้ ให้รู้ตัวอยู่เสมอ เช่น

      การมีสติมั่นอยู่ในสติปัฏฐานสูตร คือการวางใจอยู่กับกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นต้น

(๗.) หิริ การละอายต่อความชั่ว

(๘.) โอตตัปปะ สะดุ้งหวาดกลัวต่อการทำบาป

(๙.) พาหุสัจจะ การเป็นผู้ฟังมาก เพราะการฟังทำให้เกิดปัญญาเกิดความรู้

(๑๐.) อุปักกโม ความเพียรประกอบความดีไม่ลดละ

(๑๑.) ปัญญา การหยั่งรู้เหตุผลอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด

(๑๒.) รูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน (คือ ฌานโลกีย์)

      จรณะเป็นวิชาที่พระพุทธองค์ประพฤติตั้งแต่ครั้งเป็นโพธิสัตว์ เป็นธรรมที่พระอริยสงฆ์ประพฤติปฏิบัติ จงสังเกตว่าจรณะนั้น เป็นเรื่องของการระวังใจ เป็นเรื่องของการสำรวมใจ ครั้นสำรวมใจได้แล้ว ทำให้ใจเข้าถึงรูปฌาน ๔ ได้ เมื่อใจทำรูปฌาน ๔ ได้แล้ว ก็ไต่เต้าไปถึงวิชาชั้นสูงได้ ซึ่งวิชาชั้นสูงหรือที่เราเรียกว่า “วิชชา” นั้น (ช. ๒ ตัว) เป็นธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา ซึ่งศาสนาอื่นไม่มีความรู้อย่างนี้ หากใจทำรูปฌาน ๔ ไม่ได้ จะไม่มีโอกาสเข้าถึงวิชาชั้นสูงได้เลย

      วิปัสสนาวิชชา มี ๑๐ ประการ ดังนี้

๑.) สัมมสนญาณ คือการพิจารณานามรูปที่ตัวเรา รูปร่างหน้าตาทั้งเรือนร่างนี้รวมเรียกว่า รูป มีนามว่า มนุษย์ พิจารณาให้เห็นจริงว่า ต้องแก่-เจ็บ-ตาย

(๒.) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ รู้เห็นการเกิดและการดับของตัวเรา

(๓.) ภังคานุปัสสนาญาณ ให้พิจารณาว่า สังขารร่างกายนี้มีแต่จะแตกดับอย่างเดียว

๔.) ภยตุปัฏฐานญาณ พิจารณาว่าร่างกายของเรานี้เป็นภัย เพื่อให้เกิดการไม่ยึดมั่นในตัวตนของเรา

(๕.) อาทีนวานุปัสสนาญาณ พิจารณาว่าสังขารตัวเรานี้เป็นโทษ ยิ่งทำให้เราปล่อยวางได้ ไม่ยึดมั่นในตัวตนยิ่งขึ้น

(๖.) นิพพิทานุปัสสนาญาณ เมื่อพิจารณาได้ ๕ ประการตามที่กล่าวมา ๕ ข้อนั้นแล้วในข้อที่ ๖ นี้ พิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่ายสังขารให้จงได้ หากเกิดความเบื่อหน่ายได้ ถือว่าใช้ได้แล้ว

(๗.) มุญจิตุกัมยตาญาณ พิจารณาแต่อยากจะพ้นจากสังขารนี้ การพ้นจากสังขารนี้ต้องพ้นโดยความรู้ของพระพุทธองค์ จะต้องมีความรู้อะไรที่เราจะพ้นจากสังขารนี้ ไม่ใช่ทำลายตัวเอง ไม่ใช่ฆ่าตัวเอง นั่นคือบาปกรรม ไม่ใช่ความรู้ที่พระพุทธองค์ทรงสอน การพ้นจากสังขารนี้ เป็นการพ้นโดยการยกสภาพจิตใจ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเรา แล้วใจของเราก็ยกสภาพใจมาที่กายธรรมอันเป็นกาย นิจจัง สุขัง อัตตา

(๘.) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ พิจารณาแต่ว่าจะให้หลุดพ้นต่อไป พิจารณาให้ละเอียดถึงการหลุดพ้นต่อไปอีก

(๙.) สังขารุเปกขาญาณ มาถึงการพิจารณาลำดับนี้ หลวงพ่อท่านอธิบายว่า เกิดความรู้สึกทางใจว่าเกิดอาการ “พะอืดพะอม” คือกลืนไม่เข้า คายไม่ออก อารมณ์ทางใจอยู่ในฐานะอมเฉยไว้ก่อน จากนี้ไปก็ถึงวิชาญาณสุดท้ายคือ ญาณในข้อ ๑๐

(๑๐.) อนุโลมญาณ เมื่อการพิจารณามาถึงข้อ ๙ คือเกิดอาการพะอืดพะอม แล้วเราก็อมไว้แต่ยังไม่คาย คราวนี้มาถึงขั้นอนุโลมญาณ สภาพใจเกิดขึ้นทันทีว่า เอาอย่างนี้ก็แล้วกันอนุโลมให้เป็นไปตามความเป็นจริงก็แล้วกัน

      สรุปแล้ว วิปัสสนาวิชชาหรือวิชชา ๑๐ นี้ ต้องเข้ากายธรรมพิจารณา ความรู้นี้จึงจะมีขึ้นจึงจะเป็นขึ้น หากไม่เป็นธรรมกายแล้ว พิจารณาไม่ได้ ได้แต่อ่านไปเท่านั้น ต้องเข้ากายธรรมส่งรู้ส่งญาณทัสสนะมาดูที่ดวงธรรมของกายมนุษย์ แล้วก็เริ่มตั้งต้นพิจารณาลำดับมาตั้งแต่ข้อ ๑ เป็นต้นมาจนถึงข้อ ๑๐ พิจารณาดูนาน ๆ หลายเที่ยวจึงจะเกิดอารมณ์ทางใจ ๑๐ ประการ ตามบทบัญญัติว่าด้วยวิปัสสนาวิชชา ๑๐ ตามที่บรรยายมานี้ ถ้าไม่เป็นธรรมกายแล้ว การเรียนของเราก็ดำเนินไปไม่ได้ ตรงนี้เองที่ส่งผลให้วิชชา ๑๐ ประการนี้สูญเพราะไม่มีใครปฏิบัติได้ เมื่อปฏิบัติไม่ได้ ก็อธิบายไม่ได้ แม้จะมีตำราไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร?

      ในความรู้เรื่องจรณะ ๑๕ นั้น เราก็ต้องเรียนให้เห็นกายโลกีย์ของเรา คือ กายมนุษย์ลำดับดวงธรรม ๖ ดวง ก็มาเห็นกายมนุษย์ละเอียด (กายฝันของตัวเรา) กายมนุษย์ละเอียดลำดับดวงธรรม ๖ ดวงก็มาเห็นกายทิพย์หยาบ กายทิพย์หยาบลำดับดวงธรรม ๖ ดวงก็มาเห็นกายทิพย์ละเอียด กายทิพย์ละเอียดลำดับดวงธรรม ๖ ดวงก็มาเห็นกายพรหมหยาบ กายพรหมหยาบลำดับดวงธรรม ๖ ดวงก็มาเห็นกายพรหมละเอียด กายพรหมละเอียดลำดับดวงธรรม ๖ ดวงก็มาเห็นกายอรูปพรหมหยาบ กายอรูปพรหมหยาบลำดับดวงธรรม ๖ ดวงก็มาเห็นกายอรูปพรหมละเอียด ในการพิจารณานั้นไม่ยาก จะใช้กายพรหมหรือกายอรูปพรหมพิจารณาก็ได้ เลือกเอา เพราะกายพรหมทำรูปฌานได้ และการอรูปพรหมทำอรูปฌานได้ ในความรู้เรื่องจรณะ ๑๕ นั้น มีหลักสูตรให้พิจารณารูปฌาน ซึ่งเป็นข้อยากที่สุด เราจึงต้องใช้กายพรหม (รูปพรหม) หรือากายอรูปพรหมพิจารณา วิธีพิจารณาไม่ยากเลย เพียงแต่เราเข้ากายไหน? เราก็เข้ากายนั้น แล้วก็หยุดนิ่งกลางดวงธรรมในท้องของกายนั้น จากนั้นก็นึกใช้รู้ญาณของกายนั้น มองลงไปในท้องกายมนุษย์ตัวของเรา เห็นดวงธรรมในท้องกายมนุษย์แล้ว ก็เปิดตำราดูบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องจรณะ ๑๕ แล้วเริ่มพิจารณาตั้งแต่ข้อ ๑ เป็นต้นไป

     หากเราไม่เห็นกายโลกีย์ของเรา การพิจารณาไม่ได้ผล แม้ตำราจะมีไว้ แต่เราก็เรียนรู้ไม่ได้ เราจะเรียนรู้ได้ เราก็ต้องค้นคว้า ให้พบกายโลกีย์ของเราก่อน ว่ามีกี่กาย? ต่อไปก็ให้พิจารณาว่า จะใช้กายใดมาเรียนรู้ได้? จะให้ดีต้องให้เห็นกายธรรมเสียเลย เรียนวิชาธรรมกายให้เป็น แล้วการพิจารณาความรู้เหล่านี้จะไม่ยากอีกต่อไป

      เรามาพูดกันว่า ตำราในพระพุทธศาสนามีความรู้เรื่องจรณะ ๑๕ และวิปัสสนาวิชชา ๑๐ ถามว่า ใครจะมีคามรู้อธิบายได้บ้าง? ตอบว่า ไม่มีใครมีความรู้อธิบาย เพราะไม่มีใครเห็นกายโลกีย์และกายธรรมของเขา เขาจึงหมดโอกาสเรียนรู้ แม้จะมีตำราไว้ แต่ก็เรียนไม่ได้ นี่คือทางตัน แต่โพธิสัตว์ ตั้งแต่อดีตมา และพระอริยเจ้า ท่านเห็นกายโลกีย์และเห็นกายธรรมของท่าน ท่านจึงเรียนได้ ท่านจึงเข้าใจได้

      ความรู้เรื่องจรณะเป็นความรู้ระดับสมถะ ใช้กายโลกีย์เรียน ส่วนความรู้เรื่องวิปัสสนาวิชชา เป็นความรู้ระดับวิปัสสนา ใช้กายธรรมเรียน ระดับสมถะใช้สภาพใจที่หยุดและใสแล้วส่วนระดับวิปัสสนาใช้สภาพใจที่เห็นแจ้งแล้ว นี่คือความต่างกัน แต่จรณะเป็นบาทให้วิปัสสนาวิชชา เป็นบันไดให้วิชชาวิปัสสนาเป็นของคู่กันไป แยกจากกันไม่ได้

      เรื่อง “จรณะและวิปัสสนาวิชชา” นี้ เป็นคำเทศน์ของหลวงพ่อ ข้าพเจ้านำมาฝากเพื่อให้บัณฑิตจะได้ศึกษาเล่าเรียนกัน เพราะหาผู้รู้อธิบายไม่ได้แล้ว เป็นความรู้สำคัญในพุทธศาสนา แต่หาคนเรียนรู้ไม่ได้แล้ว เป็นเพียงตัวหนังสืออยู่ในคัมภีร์เท่านั้น ดีแต่ว่าหลวงพ่อท่านเป็นธรรมกาย ท่านเรียนรู้ได้ จึงนำความรู้มาอธิบายไว้ ข้าพเจ้าจึงนำความรู้เหล่านั้นมาสรุปไว้เกรงว่าความรู้เรื่องนี้จะสูญ โปรดจำไว้ว่า จรณะ ๑๕ และวิปัสสนาญาณ ๑๐ เป็นเรื่องของผู้ที่เป็นธรรมกายจะต้องเรียนรู้ว่า วิปัสสนาวิชชา ๑๐ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิปัสสนาญาณ ๑๐ หรือวิชชาญาณ ๑๐ เรียกได้หลายอย่าง

      คำว่า “ญาณ” เป็นคำย่อ มาจากคำเต็มว่า ญาณทัสสนะนั่นเอง แปลว่า หยั่งรู้ได้ รู้เห็นได้ ด้วยใจของกายธรรม กายธรรมรู้เห็นได้อย่างไร? ส่งผลกระทบถึงกายมนุษย์ตัวเราด้วย คือ เรารู้เห็นตามไปได้ด้วย ลักษณะการเห็นก็เหมือนเรื่องราวของภาพยนตร์ที่เราดูกันในทุกวันนี้จอภาพที่รับเรื่องราวก็คือใจของเรานั่นเอง แต่ว่ากายธรรมเห็นได้มากกว่ากายมนุษย์ กายมนุษย์เป็นผู้รับถ่ายทอดจากกายธรรม คือ กายธรรมต่อรู้ต่อญาณให้กายมนุษย์ได้รับรู้ เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์มาตรัสรู้ในโลก ทรงเห็นกายธรรม แล้วกายธรรมก็บอกพระไตรปิฎกแก่กายมนุษย์ของพระองค์ แล้วกายมนุษย์ของพระองค์ก็สอนความรู้นั้นแก่มนุษย์โลกต่อไป

อ่านเพิ่มในหนังสือ >>> ปราบมาร 5 หน้า 133