วิธีการฝึกให้สภาพใจสว่างใส
ลำดับแรก ให้ท่านดูภาพในท่าผ่าซีก จำฐานทางเดินของใจ 7 ฐานให้ได้
ลำดับที่ 2 ให้ท่านดูดวงแก้วขาวใส ดูแล้วให้นึกได้ด้วยใจ เมื่อหลับตามแล้วจะต้องนึกมโนภาพของดวงแก้วขาวใสได้
ลำดับที่ 3 ขั้นปฏิบัติ ให้นั่งสมาธิ คือเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ขวาจรดหัวแม่มือซ้าย แขน 2 ข้างไม่เกร็ง ปล่อยตามสบาย ตั้งกายตรง ไม่ค้อมหลัง ตั้งใบหน้าให้ตรง ไม่ก้มหน้า
จากนั้นให้หลับตา ไม่ต้องขยี้ตา เพียงหลับตาเบา ๆ ให้นึกทำใจปลอดโปร่ง ไม่คิดไปในเรื่องอื่นใดทั้งหลายทั้งปวง พึงนึกสลัดเรื่องขุ่นข้องหมองใจออกไปจากใจตน เรื่องหน้าที่การงาน และกิจการส่วนตัว ไม่นำมาคิดนึกขณะฝึกใจ
ความรู้ใดที่เคยอ่าน เคยรู้ เคยได้ยิน ให้ระงับความรู้นั้นไว้ก่อน อย่านำมานึกคิดขณะฝึก หากนำมาคิดนึก จะทำให้การฝึกไม่ได้ผล ให้นึกทำใจโปร่งใส นึกทำใจปลอดโปร่ง นึกทำใจเป็นใจเด็กไร้เดียงสา เขาสอนแค่ไหน ทำแค่นั้น เขาสอนอย่างไร ทำอย่างนั้น ทำได้อย่างนี้ การฝึกจะก้าวหน้า จากนั้น พึงนึกถึงคำสอนของพระศาสดาข้อ 3 ที่สอให้ทำใจให้ใสนั้น มีวิธีทำดังนี้
นึกถึงดวงแก้วกลมขาวใสรัศมีโชติขนาดเท่าแก้วตา แล้วน้อมใจให้ดวงแก้วในไปตามจุดหมายในตัวเรา ดังนี้
- ฐานที่ 1 ปากช่องจมูก (หญิงปากช่องจมูกข้างซ้าย ชายปากช่องจมูกข้างขวา) น้อมดวงนิมิตขาวใสมาที่ปากช่องจมูก สำหรับหญิงน้อมมาที่ปากช่องจมูกข้างซ้าย สำหรับชายน้อมมาที่ปากช่องจมูกข้างขวา ส่งความรู้สึกทางใจสัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 3 ครั้ง และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ
- ฐานที่ 2 เพลาตา (หญิงเพลาตาซ้าย ชายเพลาตาขวา) จากนั้น เลื่อนดวงนิมิตขาวใสมาที่ฐานที่ 2 เพลาตา สำหรับหญิงเพลาตาซ้าย สำหรับชายเพลาตาขวา บรรจุดวงนิมิตลงที่รูน้ำตาออก สัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 3 ครั้ง และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ
- ฐานที่ 3 จอมประสาท จากนั้น เลื่อนดวงใสไปที่จอมประสาท อยู่ในกะโหลกศีรษะ ให้เหลือกตา คือทำตาขาวเหมือนคนเป็นลม เลื่อนดวงนิมิตใสไปที่จอมประสาท เพื่อให้ใจของเราไปรับรู้ข้างใน และให้ลืมเรื่องเหลือกตาทันที เอาความรู้สึกจรดนิ่งกลางดวงนิมิตใส บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 3 ครั้ง และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ
- ฐานที่ 4 ปากช่องเพดาน จากนั้น เลื่อนดวงนิมิตใสมาที่ฐานที่ 4 คือ ปากช่องเพดาน ได้แก่ จุดหมายที่เราสำลักน้ำสำลักอาหาร ส่งใจสัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 3 ครั้ง และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ
- ฐานที่ 5 ปากช่องลำคอ จากนั้น เลื่อนดวงนิมิตใสมาที่ฐานที่ 5 คือ ปากช่องลำคอ อยู่ในหลอดลำคอ แต่อยู่เหนือลูกกระเดือกนิดหนึ่งโดยประมาณ ส่งใจสัมผัสนิ่งกลางดวงนิมิตใส บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 3 ครั้ง และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ
- ฐานที่ 6 ฐานของศูนย์กลางกาย จากนั้น เลื่อนดวงนิมิตใสไปในท้องเรา ให้ได้ระดับสะดือ สมมุติว่ามีเข็มร้อยด้าย 2 เล่ม เล่มที่ 1 สมมุติแทงจากสะดือตัวเราเองเป็นเส้นตรงทะลุข้างหลัง อีกเลืมหนึ่งสมมุติว่าแทงจากสีข้างขวาเป็นเส้นตรงทะลุสีข้างซ้าย เห็นเป็นมโนภาพว่า ในท้องของเรามีเส้นด้ายตัดกันเป็นรูปกากบาท จุดที่เส้นด้ายตัดกันนั้นคือ ฐานของศูนย์กลางกาย ให้เลื่อนดวงนิมิตใสตั้งไว้ตรงนั้น ส่งใจนิ่งกลางดวงนิมิตใส บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 3 ครั้ง และนึกให้ดวงนิมิตสว่างโชติ
- ฐานที่ 7 ศูนย์กลางกาย จากนั้น เลื่อนดวงนิมิตใสจากฐานที่ 6 ให้สูงขึ้นมาประมาณ 2 นิ้วมือตัวเอง ส่งใจนิ่งกลางดวงนิมิตใน บริกรรมในใจว่า สัม มา อะ ระ หัง จำนวน 100 ครั้ง และภาวนาเรื่อยไป จนกว่าดวงนิมิตเดิมเกิดความสว่างยิ่งขึ้น ชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นดวงธรรมแท้จริงของตัวเราเอง มีขนาดของดวงต่าง ๆ กัน เช่น เท่าดวงดาวในอากาศ เท่าเมล็ดข้าวโพด เท่าผลลูกหมาก เท่าผลส้มโอ แต่อย่างใหญ่ไม่เกินดวงจันทร์ดวงอาทิตย์
ลักษณะของดวงธรรม เป็นดวงแก้วขาวใสกลม มีรัศมีสว่างโชติ เหตุที่ดวงธรรมมีขนาดต่างกัน ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีที่สร้างสมอบรมมาแต่อดีตชาติ ใครสร้างสมอบรมบุญบารมีไว้มาก ดวงธรรมจะมีขนาดใหญ่ ท่านที่ดวงธรรมใหญ่ มักเรียนรู้เร็ว ทำเป็นเร็ว
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือทางรอดของมนุษย์มีทางเดียว หน้า 23