บทที่ 11
เหตุใดการฝึกใจกำหนดจุดพักใจถึง ๗ ฐาน
เหตุผลที่กำหนดที่พักใจ ๗ จุดหมาย ก็คือ
๑. ใจของเราโดยธรรมชาติมีที่พัก ๗ ฐาน
คือ ก่อนที่เราจะนอน “หลับ” ปราณคือ ลมหายใจ เข้าทางช่องจมูกแล้ว เดินไปตามฐาน ๗ ฐาน เมื่อถึง ฐานที่ ๗ ลมไปหยุดตรงฐานที่ ๗ และใจของเราก็หยุดที่ฐานที่ ๗ แล้วเราก็ “หลับ” ถ้าใจหยุดจึงหลับ หากใจไม่หยุดก็ยังไม่หลับ
การที่เราพักใจตามฐานต่างๆ แล้วบริกรรม เป็นการปฏิบัติตามหลักของธรรมชาติ อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่ง
๒. ให้รู้ทางมาเกิดไปเกิด
หมายถึง การที่สัตว์โลกมาเกิด โดยเข้าสู่ครรภ์มารดา และเป็นตัวตนขึ้นมาเป็นมนุษย์ไปเกิด หมายถึง สัตว์โลกตาย โดยทิ้งร่างของตนไว้ และกายละเอียดไปหาภพเกิดใหม่ (โบราณว่า วิญญาณไปสู่ปรโลก)
ถ้ามาเกิดเดินใน และถ้าไปเกิดเดินนอก
คือการมาเกิด ใจของสัตว์เข้าสู่ช่องจมูก แล้วเดินไปตามฐาน และไปหยุดตรงฐานที่ ๗ และถ้าจะไปเกิด (ตาย) ใจจะมาหยุดตรงฐานที่ ๗ ก่อน แล้วเลื่อนมาฐานที่ ๖-๕-๔-๓-๒ แล้วออกจากช่องจมูก จังหวะที่ “ตาค้าง” แสดงว่า ใจเดินมาหยุดที่ฐานที่ ๓ คือ จอมประสาท เริ่มตายจากจุดนี้ พอใจออกจาก ช่องจมูก แปลว่า ตายสนิทแล้ว จากนั้นกายฝันของผู้ตายคือ กายละเอียด จะไปไหนก็สุดแต่บุญกรรมของ เขาผู้นั้น ถ้ากายมนุษย์ทำบุญสุนทาน กายฝันของเขาก็ไปสุคติ แต่ในทางกลับกัน ถ้ากายมนุษย์ของเขาทำเวรกรรม กายฝันของเขาก็ไปสู่ทุคติ
ดังนั้น ปรโลก ก็คือ โลกอื่นของผู้ตาย มีทั้งปรโลกสุคติและปรโลกทุคติ
เรื่องของการมาเกิด ก็คือ ผู้มาเกิดมาอยู่กับผู้เป็นบิดาก่อน คือ กายละเอียดของผู้มาเกิดเข้าช่องจมูกบิดา เสมือนหนึ่งเข้าสู่นิวาสสถานใหญ่ ถ้าเป็นชายเข้าช่องจมูกขวา และถ้าเป็นหญิงเข้าช่องจมูกซ้าย แล้วไปตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย (ฐานที่ ๗) ของบิดานั้น ต่อมา บิดาได้ประกอบกามกิจกับมารดา ขณะที่ประกอบกามกิจนั้น กายของผู้มาเกิดดับลงแล้วกลายเป็นธาตุธรรม มีลักษณะเป็นดวงใส เดินทางออกจากศูนย์กลางกายของบิดา (ฐานที่ ๗) แล้วมาฐาน ๖-๕-๔-๓-๒-๑ จากนั้น เข้าจมูกของมารดา ถ้าเป็นชาย เข้าทางช่องจมูกขวา หญิงช่องจมูกซ้าย (ไปตามฐานตามที่ลำดับไว้ ๗ ฐาน) แล้วมาฐานที่ ๒ (เพลาตา) ฐาน ๓ (จอมประสาท) ฐาน ๔ (ช่องเพดาน) ฐาน ๕ (ช่องลำคอ) ขณะที่อสุจิของชายหลั่งเกิดความรู้สึกสุดยอดแห่งการประกอบกามกิจ ดวงใสอันเป็นธาตุธรรมละเอียด “หยุด” ที่ฐานที่ ๖ ของมารดาทันที และลอยจากฐานที่ ๖ มาสู่ฐานที่ ๗ แล้วเคลื่อนเข้าสู่อู่มดลูกกลางต่อมเลือดของมารดา (ที่ต่อมเลือดมีช่องรู สำหรับเลือดระดูเดิน เหมือนกับช่องรูที่หัวนม สำหรับให้น้ำนมเดิน) เมื่อดวงใสตั้งบนต่อมเลือดแล้ว ทำให้ช่องเลือดปิด จากนั้นมารดาก็ขาดระดูเป็นต้นไป จากนั้นดวงใสอันเป็นธาตุธรรมละเอียด ก็เริ่มขยายกายให้หยาบขึ้น เกิดเป็นก้อนและเป็นตัวตนขึ้นมา
ตามที่กล่าวนี้ แสดงถึงการเกิดของสัตว์โลก ว่าจะต้องเดินไปตามฐาน ๗ ฐาน อันนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่ใจจะต้องไปพักตามจุดหมาย ๗ จุดนั้น แสดงว่ามาเกิด “เดินใน” ตามที่กล่าวแล้ว
แต่ถ้า “ไปเกิด” คือ ตาย ใจของผู้ตายจะไปหยุดที่ฐานที่ ๗ และถอยหลังมาจนถึงฐานที่ ๑ แสดงว่าไปเกิด “เดินนอก”
๓.) การเกิดธรรมหรือที่เรียกว่า เห็นธรรมนั้น ใจของเราก็ต้องเดินไปตามจุดหมาย ๗ จุดเช่นนั้นด้วย
สุดท้าย ต้องไปทำใจหยุดใจนิ่งตรงศูนย์กลางกาย คือ ตรงฐานที่ ๗ เพราะฐานที่ ๗ เป็นที่ตั้งของปฐมมรรค อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นธรรมตรงนั้น ถ้าไปตั้งใจไว้ที่อื่น เราก็หมดโอกาสได้เห็นธรรมเพราะไม่ถูกจุดเริ่มต้น เมื่อไม่ถูกจุดเริ่มต้น ก็แปลว่า ล้มเหลวสิ้นเชิง
ถามว่า จะไม่กำหนดที่พักใจได้หรือไม่ ตอบว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะแบบสำเร็จเป็นเช่นนั้น จึงต้องปฏิบัติเช่นนั้น
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือวิธีสอนและเทคนิควิธีฝึกให้เป็นธรรมกาย (คู่มือวิปัสสนาจารย์) บทที่ 11 หน้า 98