ใจ คืออะไร
– ใจ คือ เห็น จำ คิด รู้
– เห็น จำ คิด รู้ รวม ๔ อย่างเข้าด้วยกัน เรียกว่า “ใจ”
เห็น ได้แก่ การที่นัยน์ตามองเห็นและดูสิ่งของ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “เห็น
จำ ได้แก่ การที่จำคำสวด จำสิ่งของ จำสูตรคูณ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “จำ”
คิด ได้แก่ การที่เรานึกคิด เรื่องราวต่างๆ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “คิด”
รู้ ได้แก่ อาการที่เราระลึกได้ นึกขึ้นได้ มุ่งเอาความรู้สึกที่เรา “รู้”
ความหมายของคำว่า “ใจ” พอจะเข้าใจบ้างแล้ว คราวนี้เข้าไปอีกขั้นหนึ่ง พอบอกว่า “รวมใจ” ให้ท่านนึกรวมความคิด ความนึกเป็น “จุดเดียวกัน” ไม่ให้ไปนึกไปคิดมา ไม่ให้คิดโน่น นึกนี่
นี่คือ ให้ความรู้สึกของ เห็น จำ คิด รู้ มารวมกัน แล้วเราจะเกิดความรู้สึกว่า ใจของเรามีกำลัง มีแรงเป็นลักษณะของใจที่จะเข้าระเบียบจะเข้าระบบ ใช้สติ “กำกับ” ใจที่รวมกันนั้น ให้รวมกัน นาน ๆ แล้วจะเกิด “ความสว่าง” ทางใจทันที
เมื่อใจรวมกันดังนี้ แสดงว่า พร้อมที่จะรับการพัฒนา ตามหลักของ “อริยมรรค ๘” ต่อไป
ปัญหาสำคัญ ก็คือ ท่านจะให้ใจไปรวมกันที่ไหน
ท่านจะเอาใจไปตั้งไว้ที่ไหน
ถ้าเอาใจไปตั้งไว้ในที่ส่งเดช ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร หูก็ดี ตาก็ดี จมูกก็ดี ถ้าตั้งผิดที่แล้ว ดูไม่งามอย่างไร “การตั้งใจผิดที่” ย่อมเกิดความเสียหายใหญ่หลวง เพราะใจคือ ชีวิต ชีวิตคือใจ การ ตั้งใจผิดที่ คือ “ชีวิตเดินผิดทาง”
๒. จะรวมใจตั้งไว้ที่ตรงไหน
ถ้าตั้งใจในที่ ถูก เราจะปลอดภัยไปตลอด
ถ้าตั้งใจในที่ ผิด เราจะพลาดไปตลอดชีวิต
จุดหมาย “ที่ตั้งของใจ” คือ ศูนย์กลางกาย อยู่ในท้องของเราตรงฐานที่ ๗ โปรดดูภาพ เมื่อตั้งใจไว้ ตรงศูนย์กลางกายแล้ว ใจก็จะทำงาน งานของใจคือ แสวงหาทางเดิน แต่ทางเดินของกายกับทางเดินของใจไม่เหมือนกัน กายก็มีทางเดินของกาย ส่วนใจก็มีทางเดินของใจ ดังนี้คือ
ก. กายมรรค (ทางเดินของกาย) มี ๓ คือ
๑. สถลมรรค (ทางบก)
๒. ชลมรรค (ทางน้ำ)
๓. อากาศมรรค (ทางอากาศ)
ข. มโนมรรค (ทางเดินของใจ) มี ๕ อย่าง คือ
๑. มรรคอบาย ได้แก่ การประพฤติ อกุศลกรรมบถ ผู้ประพฤติไปสู่อบาย (ทุคติภูมิ)
๒. มรรคสวรรค์ ได้แก่ การประพฤติ กุศลกรรมบถ ผู้ประพฤติไปสู่สวรรค์ (สุคติภูมิ)
๓. มรรคทาง พรหม ผู้ประพฤติได้ รูปฌาน ๔
๔. มรรคทาง อรูปพรหม ผู้ประพฤติได้ อรูปฌาน ๔
๕. มรรคทาง นิพพาน ผู้ประพฤติได้ อริยมรรค ๘
๓. ใจของเราจะเลือกเดินมรรคทางใด
ถ้าถามว่า ท่านจะเลือกเดินมรรคใด
แน่นอน ท่านเลือกมรรคทางนิพพาน
เมื่อเลือกมรรคทางนิพพาน ก็ต้องเรียนอริยมรรค ๘ ให้เข้าใจ เพื่อจะได้เดินตามหลักมรรค ๘ ได้ถูกต้อง
๔. มรรค ๘ เป็นอย่างไร
อริยมรรค ๘ หรือมรรค ๘ นั้น เป็นดังนี้
๑. สัมมา วาจา วาจา ชอบ
๒. สัมมา กัมมันตะ การงาน ชอบ
๓. สัมมา อาชีวะ เลี้ยงชีพ ชอบ
๓ อย่างนี้เป็น ศีล
๔. สัมมา วายามะ ความเพียร ชอบ
๕. สัมมา สติ ระลึก ชอบ
๖. สัมมา สมาธิ ตั้งใจ ชอบ
๓. อย่างนี้เป็น สมาธิ
๗. สัมมา ทิฏฐิ ความเห็น ชอบ
๘. สัมมา สังกัปปะ ดำริ ชอบ
๒ อย่างนี้เป็น ปัญญา
สรุปแล้ว มรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาจึงเกิดแก่เราว่าทำอย่างไร จึงจะเข้าถึง ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะศีล สมาธิ ปัญญาเป็นมรรค ๘ ดังนั้น เราจึงต้องเรียนเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา กันต่อไป
๕. ศีล สมาธิ ปัญญา คืออะไร
ศีล คืออะไร
ศีล คือ การสำรวม กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย การสำรวมกาย การสำรวมวาจา ให้อยู่ในบัญญัติ ศีล เราเห็นกันอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบาย
ศีลใจ การสำรวมใจ ไม่ให้ละเมิดข้อศีล เราเห็นนักบวชปฏิบัติทุกวันอย่างนั้นเป็น “ปกติศีล” เป็นศีลเบื้องต้น ไม่ใช่ศีลที่ควรแก่การงาน ยังไม่มีฤทธิ์เดชอะไร ใคร ๆ ก็ทำได้
ศีล ที่ควรแก่การงานตามนัยมรรค ๘
“ปกติศีล” สภาพใจที่สำรวม ไม่ละเมิดข้อศีล เช่น ไม่คิดฆ่าสัตว์ แต่ถ้าคิด ก็ระงับความคิดนั้น ศีลในลักษณะนี้ กำจัดอวิชชาไม่ได้ กำจัดทุกข์ไม่ได้ กำจัดภัยไม่ได้ กำจัดโรคไม่ได้ ปกติศีล จึงไม่มีฤทธิ์ ไม่มีอานุภาพ กิเลสไม่กลัว ศีลลักษณะนี้
อธิศีล คือ ศีลตามนัยมรรค ๘
เป็นการรวมใจ ระวังใจ เข้มงวดกวดขันยิ่งกว่า “ปกติศีล”
เป็นการรวมใจ ระวังใจ จนสภาพใจ ใสสะอาด เกิดความบริสุทธิ์ด้วย “ใจ” เป็นดวงแก้ว ใสสว่างโชติ ในท้องของตน คือ มีใจใสเหมือนดวงแก้วมณีโชติ ใจลักษณะนี้ เป็นสภาพใจตามแนวมรรค ๘ เรียกว่า “อธิศีล” เป็นใจที่ควรแก่งาน กำจัดอวิชชาได้ กำจัดทุกข์ได้ กำจัดภัยได้ กำจัดโรคได้ เป็นใจที่มีฤทธิ์ มีเดช มีอานุภาพ
กิเลส ตัณหา อุปาทาน กลัว อธิศีล ยิ่งนัก
อธิศีล อยู่ที่ไหน กิเลสพังที่นั่น
ถ้าอยากพ้นทุกข์ อยากกำจัดกิเลส จงทำ อธิศีล ให้เกิดแก่ใจตน
สมาธิ คืออะไร
สมาธิ คือ การตั้งใจมั่น หรือยึดมั่น อารมณ์ใด อารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว สมาธิที่ว่านี้เป็น
สมาธิเบื้องต้น ไม่เป็นสมาธิที่ควรแก่งาน
ส่วน สมาธิ ตามนัยแห่งมรรค ๘ จำเป็นต้องประคองใจ ให้มั่นคงยิ่งขึ้น จนกระทั่งเห็นสภาพใจมั่น เป็นดวงใสด้วยใจตน จึงเป็นสมาธิที่ควรแก่งาน ควรทำให้เป็นขึ้น ทำให้มีขึ้น
ปัญญา คืออะไร
ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้ การคิดได้ นึกได้ ให้ตั้งข้อสังเกตว่า ในภาวะที่ใจเราฟุ้งซ่าน เรามักนึกอะไรไม่ได้ คิดอะไรไม่ออกเกิดความสับสน
แต่เวลาที่เราอารมณ์ดี หรือขณะที่ใจเราสงบระงับ เรามักคิดอะไรได้ นึกอะไรออก นี่คือ ถ้าสมาธิ ดีทำให้ปัญญาเรือง หากสมาธิทราม ปัญญาก็อ่อน
ดังนั้น การฝึกดวงปัญญา ขึ้นอยู่กับการทำสมาธิ ถ้าดวงสมาธิเกิด ดวงปัญญาย่อมเกิดตาม เป็นอันสรุปได้ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน เมื่อทำศีลให้เกิดขึ้นได้ สมาธิและปัญญาย่อมเกิดตามมาเองอย่างไม่ต้องสงสัย
ขั้นตอนนี้ท่านเข้าใจ ศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักของมรรค ๘ แล้ว
จากนี้ไปเป็นขั้นทดลองฝึกใจ ท่านจะมีวิธีทำอย่างไร ตั้งแต่ต้นจนปลาย เพื่อให้เกิด ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ตามแนวของมรรค ๘
การกำหนดใจ การวางใจ การตั้งใจ จะตั้งตรงไหน
จะเอาใจไปตั้งไว้ตรงไหน ท่านต้องทราบ
ถ้าท่านตั้งใจ ผิดที่ ท่านจะผิด ตลอดไป
ถ้าท่านตั้งใจถูกที่ ท่านจะ โชคดี จนตลอดชีวิต
ที่ตั้งใจ คือ “ที่ศูนย์กลางกาย”
ตรงฐานที่ ๗ ในท้องของท่าน โปรดดูภาพ
เหตุใดจึงเอาใจไปตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกาย
๑. เพราะที่ศูนย์กลางกาย เป็นที่ตั้งของดวงธรรม ที่เรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ เรียกอีกอย่างว่า ดวงปฐมมรรค ถ้าไม่ตั้งใจตรงนี้ แปลว่า ไม่ถูกมรรคหรือไม่ถูกทาง เมื่อไม่ถูกทางเราก็ไม่พบดวงปัญญา ก็แสดงว่า ไม่ถูกทางของมรรค ๘
๒. เพราะที่ศูนย์กลางกาย เป็นที่สุดของลมหายใจเข้า เป็นที่เกิดเป็นที่ดับ เป็นที่หลับ เป็นที่ตื่น ที่สุดของลมหายใจเข้า เป็นจุดหมายที่หยุด เป็นจุดหมายที่นิ่งของใจ เป็นจุดหมายเห็นธรรมของใจ
เป็นที่เกิด หมายความว่า เป็นจุดที่ใจของมนุษยโลก ต้องหยุดและนิ่งตรงนั้นจึงจะเกิดได้
เป็นที่ดับ คือตาย เมื่อจะตาย ใจต้องหยุดตรงนั้นก่อน แล้วจึงตาย
เป็นที่หลับ คือนอนหลับ ใจหยุดตรงนั้นคือหลับ ถ้าใจไม่หยุดตรงนั้น จะหลับไม่ได้เลย
เป็นที่ตื่น คือตื่นจากนอนหลับ ใจหยุดตรงนั้นแล้วจึงตื่น อีกความหมายคือ ตื่นจากอวิชชา หมายความว่า “เห็นธรรมตรงนั้น”
รวมความว่า ถ้าไม่ตั้งใจที่ศูนย์กลางกาย แปลว่า ไม่เห็นความเกิด ความดับ ความหลับ และความตื่น คงอยู่ใต้ปกครองของอวิชชาตลอดไป อวิชชาแปลว่า ความเขลา คือ ไม่รู้อดีต ไม่รู้ปัจจุบัน ไม่รู้อนาคต ไม่เห็นอริยสัจ ๔
๓. เพราะศูนย์กลางกาย คือ ตรงฐานที่ ๗ เป็น “เอกายนมรรค” ซึ่งแปลว่า “ทางเอก” คือ ทางสายเดียว
ไม่มี ๒ ทางไม่มี ๓ ทาง ถ้าจะเข้ามรรคผล จะต้องเริ่มตรงจุดนี้ ไปเริ่มที่อื่นไม่ได้
จุดหมายนี้ เป็นที่ผ่านไปผ่านมาของพระพุทธเจ้า ถ้าจะระลึกถึงพระพุทธเจ้า จะต้องเอาใจจรดไว้ตรงนี้ พระพุทธองค์จึงจะทราบความประสงค์ ถ้าตั้งใจไม่ถูกจุดหมายนี้ พระพุทธองค์ไม่ทราบเรื่องราวของเราเลย
อย่ากำหนดใจนอกเหนือจุดหมายที่กล่าว
การกำหนดใจของพระและของมารนั้น ต่างกัน
พระ หรือเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ หรือเรียกว่าฝ่ายกุศล หรือฝ่ายบุญ
มาร หรือเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ หรือเรียกว่าฝ่ายบาป หรือเรียกว่าฝ่ายอกุศล หรือเรียกว่า ฝ่ายดำ (ภาคดำ) หรือเรียกว่า อกุศลาธัมมา หรือเรียกว่า อวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน
การกำหนดใจของพระ
กำหนดไว้ ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เท่านั้น (คือกำหนดใน ได้แก่ ในท้อง คือ ศูนย์กลางกาย)
การกำหนดใจของมาร
การกำหนดใจของมาร หรือการตั้งสติ หรือการตั้งใจ เขากำหนดนอก ได้แก่ การกำหนดที่นอกเหนือไปจาก ศูนย์กลางกาย เช่น ตั้งที่
– ฝ่ามือ
– ฝ่าเท้า
– กระหม่อม
– ซอกคอ
– หน้าอก
– หลายจมูก
– หน้าผาก ฯลฯ
– กำหนดอย่างนี้ เดินนอกร่ำไป ไม่เข้าในเลย
การกำหนดใจดังกล่าวนี้ มารชอบใจมาก เพราะถูกแนวของเขาที่เราจะไม่พบของจริงตลอดไป เราจะอยู่ใต้การปกครอง ของอวิชชา ไม่มีโอกาสลืมตา อ้าปากได้เลย
ผลแห่งการตั้งใจ
– ตั้งใจที่ศูนย์กลางกาย เห็นดวงปฐมมรรคในท้อง คือ เห็นข้างใน พระให้เห็น เป็นของจริง
– ตั้งใจผิดไปจากศูนย์กลางกาย เห็นดวงธรรมนอกตัว คือ เห็นนอก กิเลสให้เห็น เป็นของหลอก ของปลอม
– เห็นใน ไม่เวียนว่าย – เห็นนอก เวียนว่าย
– เห็นใน จะหมดภพ หมดชาติ – เห็นนอก จะแสวงหาภพ ชาติ
– เห็นใน เป็นวิชาของฝ่ายบุญ – เห็นนอก เป็นวิชาของฝ่ายบาป
– เห็นใน จะหมดทุกข์ – เห็นนอก แสวงหาทุกข์
– เห็นใน จะเร็ว จะถึง เดินหน้า –เห็นนอก จะล่าช้า เนิ่นนาน ถอยหลัง
– เห็นใน จะหมดเวร หมดกรรม – เห็นนอก เวรกรรมยังตามล้าง
– เห็นใน ดวงบุญไม่ถูกระเบิด
– เห็นนอก ดวงบุญแตกกระจาย เพราะถูกมารระเบิด
– เห็นใน ถึงมรรคผลนิพพาน
– เห็นนอก ไม่ถึงมรรคผลนิพพาน ได้แค่ขอถึง แต่ไม่ถึง
– เห็นใน ใกล้พระพุทธองค์ – เห็นนอก ไกลจากพระพุทธองค์
– เห็นใน ของจริง – เห็นนอก ของเก๊
– เห็นใน สงบ มีสมาธิ เห็นนอก – ใจฟุ้งซ่าน บ้า
– เห็นใน โรคจะหาย – เห็นนอก โรคกำเริบ
– เห็นใน จะรุ่งเรือง จำเริญ – เห็นนอก จะเสื่อม ยากจน
– เห็นใน สุคติ – เห็นนอก ทุคติ
เหตุใดเราจึงตั้งใจไว้ในที่ต่างกัน
บ้างก็ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย บ้างก็ตั้งไว้นอกศูนย์กลางกาย เหตุใดจึงตั้งใจต่างกันเช่นนั้น
เรื่องการตั้งใจนี้เป็นเรื่องใหญ่ ยากที่จะชี้แจง และยากที่จะให้เหตุผล
พระพุทธเจ้าฝ่ายสัมมาทิฏฐิ หรือฝ่ายบุญ เป็นผู้ค้นคว้า ถ้าบารมีไม่เข้าขั้นพระพุทธเจ้า จะค้นคว้าเรื่อง นี้ไม่ได้ เมื่อพระองค์ค้นคว้าที่ตั้งของใจได้แล้วว่า อยู่ที่ศูนย์กลางกาย มนุษยโลกก็ปฏิบัติตามกันเรื่อยมา เป็นผลให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์กันมาก ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้มรรคผล นอกจากจะได้หนทางวิเศษแล้ว ยังได้บุญ บารมีแก่กล้ายิ่งขึ้น
ส่วนพระพุทธเจ้าฝ่ายมิจฉาทิฏฐิ หรือฝ่ายบาป เห็นสัตว์โลกได้มรรคผลกันมาก จำต้องเข้าสอดแทรก ความรู้ถูกต้องอันนั้น ให้บ่ายเบนไปจากความถูกต้อง ด้วยการหุ้มเคลือบ เห็น จำ คิด รู้ ของเกจิอาจารย์ให้จำผิด คิดผิด รู้ผิด เห็นผิด และบอกกันมาคลาดเคลื่อนเรื่อยมา บางโอกาสคนของมารได้อำนาจปกครอง เกิดการรบพุ่ง บ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเมืองถูกเผา ตำรับตำราถูกเผา ครั้นผู้รู้รวบรวมใหม่ ก็ได้ตำราครบบ้างไม่ครบบ้าง ขาดบ้างเกินบ้าง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ความรู้ถูกต้อง สูญหายไป มารจะได้ทำงานได้เต็มมือ คือให้ตั้งใจผิดที่ จะได้เวียนว่ายตายเกิดกันมาก ๆ มารเขามีหน้าที่ให้สัตว์โลกได้เวียนว่ายตายดับ เวียนเกิด เวียนตาย ให้สัตว์โลกมีทุกข์โศก โรคภัย พลัดพราก วิบัติ รบราฆ่าฟัน ข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง เหี้ยนเตียน ให้เห็นผิด จำผิด คิดผิด รู้ผิด รวมความว่ามารเขาเป็นเจ้าโลกและเป็นเจ้ากรรมด้วย เขามีอำนาจบังคับได้หมด จะให้แก่ก็ได้ จะให้ตายก็ได้ ศักดิ์สิทธิ์เหมือนจับวางทีเดียว
ส่วนพระพุทธเจ้าฝ่ายสัมมาทิฏฐินั้น มีหน้าที่ให้ความสว่างแก่สัตว์โลก ให้เห็นธรรมอันประเสริฐให้ความร่มเย็นเป็นสุข ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
พระพุทธเจ้า ๒ ภาคนี้ เป็นอริต่อกัน
ใครทำใจไปในฝ่ายพระพุทธเจ้าภาคบุญ ผู้นั้นเป็นสุข ใครทำใจไปทางพระพุทธเจ้าภาคบาป ผู้นั้นก็เป็นทุกข์
พระพุทธเจ้าภาคบุญ ตั้งใจไว้ที่ศูนย์กลางกาย ไม่ใช่ตั้งที่อื่น
แต่พระพุทธเจ้าภาคมาร ตั้งใจไว้ที่อื่น แต่ไม่ใช่ศูนย์กลางกาย
สรุปความรู้ขั้นตอนนี้เสียก่อน
๑. ท่านเข้าใจคำสอนของพระพุทธศาสนา ๓ ข้อแล้ว แต่ละข้อท่านเข้าใจอย่างไร
๒. ข้อที่ว่า สจิตฺตปริโยทปนํ การทำใจให้ผ่องใสนั้น ท่านเข้าใจอย่างไร
บัดนี้ ท่านเข้าใจแล้วว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ตามนัยแห่งมรรค ๘ นั้น คืออย่างไร
เราจะ “ทำใจ” ให้เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น เราจะต้องเอาใจไปตั้งไว้ที่ “ศูนย์กลางกาย” ตรงฐานที่ ๗
โปรดดูภาพประกอบ
อ่านเพิ่มเติมใน >>> หนังสือผู้ใดเห็นดวงธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย หน้า 19