ประวัติย่อ
นายการุณย์ บุญมานุช (พ.ม., กศ.บ.)
อดีตผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี
พ.ศ. ๒๕๙๖ – ๒๕๙๙ เรียนวิชาครูที่ ร.ร.ฝึกหัดครูพระนคร วังจันทร์เกษม ในระหว่างนี้ไปเรียนวิชาธรรมกายเบื้องต้นที่วัดปากน้ำโดยตลอด
พ.ศ. ๒๕๙๙ – ๒๕๐๐ เรียนจบประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) แล้วบรรจุเข้ารับราชการเป็นครูที่ ร.ร. โยธินบูรณะ ในระหว่างนี้ ไปเรียนวิชาธรรมกายที่วัดปากน้ำกับแม่ชีทองสุข สำแดงปั้น
พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๐๙ ย้ายราชการมาเป็นครูที่ ร.ร.วัดบวรนิเวศ และสอบได้วุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) และวุฒิการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ตามลำดับ ระหว่างนี้ไปเรียนวิชาธรรมกายกับแม่ชีทองสุขที่วัดปากน้ำ อย่างสม่ำเสมอ
พ.ศ. ๒๕๐๙ – ๒๕๑๔ ย้ายสังกัดราชการจากครูมาเป็นศึกษาธิการ เริ่มรับราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอ ที่อำเภอท่าใหม่ จ.จันทบุรี ระหว่างนี้เรียนวิชาธรรมกายด้วยตัวเอง เพราะห่างครู-อาจารย์
พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๒๓ ย้ายราชการมาเป็นศึกษาธิการอำเภอป่าโมก จ.อ่างทอง ได้พบกับ แม่ชีถนอม อาสไวย์ ศิษย์เอกของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้เรียนวิชาธรรมกายกับแม่ชีถนอม และเป็นวิชาธรรมกายอย่างแท้จริงที่นี่ รวมทั้งได้เริ่มต้นเผยแพร่วิชาธรรมกาย โดยเป็นวิทยากรสอนในงานต่าง ๆ ของพระสงฆ์ในต่างจังหวัด ตามแต่จะเชิญมา
พ.ศ. ๒๕๒๓ – ๒๕๒๔ เลื่อนตำแหน่งเป็น “ผู้ช่วยศึกษาธิการจัดหวัด” โดยมารับตำแหน่งที่ จ.ปทุมธานี
พ.ศ. ๒๕๒๔ – ๒๕๒๕ ย้ายไปเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการจัดหวัดสมุทรสาคร และได้เผยแพร่วิชาธรรมกายไว้ที่วัดเจษฎาราม โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันของท่านเจ้าคุณพระราชสาครมุนี เจ้าคณะจังหวัดฯ ในขณะนั้น
พ.ศ. ๒๕๒๕ – ๒๕๓๘ ย้ายราชการมาเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการจังหวัดจันทบุรี ได้เป็นวิทยากรเผยแพร่วิชาธรรมกายให้แก่สถานศึกษาและวิทยาลัย และเป็นวิทยากรสอนผู้บริหารระดับต่าง ๆ รวมทั้งยังได้พิมพ์ตำราเกี่ยวกับวิชาธรรมกายเผยแพร่เป็นธรรมทาน ตราบจนเกษียรราชการ นอกจากนี้ ยังได้ทำวิชาปราบมารตั้งแต่วันเข้าพรรษาของปี พ.ศ. ๒๕๒๗ มาจนถึงทุกวันนี้
ชาติภูมิ
เป็นบุตรคนที่ 5 ในบรรดาบุตรหญิงชายทั้งหมด 9 คน ของนายเหลียง – นางปุ๋ย บุญมานุช ซึ่งมีอาชีพเป็นเกษตรกร ถือกำเนิดเมื่อ 29 ตุลาคม 2478 ที่บ้านบางพลับ ตำบลบางพลับ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
การศึกษา
ประถมศึกษา
– จบชั้นประถมศึกษา (ป.4) จากโรงเรียนวัดท่าจัด ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลข้างบ้าน
มัธยมศึกษา
– จบชั้น ม.5 ที่ ร.ร.อุภัยภาดาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของวัดสองพี่น้อง โดยอยู่ในอุปถัมภ์ของวัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
– เรียนชั้น ม.6 ที่ ร.ร.กรรณสูตศึกษาลัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เรียนได้เทอมเดียวก็ป่วย จึงไปอยู่กับพี่ชายที่จังหวัดกาญจนบุรี
– จบชั้น ม.6 ที่ ร.ร.วิสุทธิรังสี จ.กาญจนบุรี
อุดมศึกษา
– ได้วุฒิการศึกษา ป.ป. (ประโยคประถม) เมื่อปี 2499 และออกรับราชการเป็นครูที่ ร.ร.โยธินบูรณะ ต่อมาย้ายมาเป็นครูที่ ร.ร.วัดบวรนิเวศ รวมเวลาที่เป็นครู 10 ปี
– ได้วุฒิการศึกษา พ.ม. (ประโยคพิเศษมัธยม) จากการสอบวิชาชุดครู
– ได้วุฒิการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) จากการศึกษาภาคค่ำของวิทยาลัยการศึกษาประสานมิตร
ชีวิตครอบครัว
แต่งงานเมื่อปี พ.ศ.2511 กับคุณวันเพ็ญ วงษ์กล้าหาญ (นางพยาบาล ร.พ.พระปกเกล้าจันทบุรี) สมัยที่เป็นศึกษาธิการอำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีลูกสาว 1 คน ชื่อลูกกล้วย (น.ส.วิลาวัณย์ บุญมานุช) เรียนจบปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์ ทำราชการอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพฯ ต่อมาเรียนจบปริญญาโท ย้ายราชการมาอยู่โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี
ชีวิตการมีครอบครัวของลุง ต้องย้ายไปย้ายมา คุณวันเพ็ญก็ย้ายตำแหน่งราชการตามลุงไปตามจังหวัดต่าง ๆ แบบทุลักทุเล ต่อเมื่อตำแหน่งราชการของลุงย้ายมาเป็นผู้ช่วยศึกษาธิการจัดหวัดจันทบุรี เราจึงอยู่รวมกันได้ครบพ่อแม่ลูก ความอบอุ่นเพิ่งเกิดขึ้นในตอนนี้ ระหว่างที่โยกไปย้ายมานั้นลูกกล้วยยังเล็กอยู่ ไม่ได้ย้ายตาม เธออยู่กับพี่ของภรรยา โชคดีที่ลูกเรียนระดับมัธยมศึกษา ลูกจึงได้อยู่รวมกับพ่อแม่ ลุงเกิดความสุขใจขึ้น เพราะครอบครัวของเราอยู่รวมกันเสียที ชีวิตราชการทำให้เราอยู่รวมกันยาก เพราะการย้ายตำแหน่งราชการนี่เอง ทำให้เราไม่ได้อยู่รวมกัน
สุดท้าย ลุงก็ปักหลักอยู่ที่จันทบุรี บ้านเลขที่ 1/31 ถนนพระยาตรัง ต.วัดใหม่ อ.เมือง จ.จันทบุรี
คติธรรมของคุณลุง
ศิษย์จะต้องเก่งกว่าครูอาจารย์ ถ้าศิษย์ไม่เก่งกว่าครูอาจารย์ โลกก็ไม่เจริญและธรรมก็ไม่เจริญ
จะสอนวิชาแก่ใคร? ก็ต้องตั้งใจให้เป็นกุศลไว้ก่อน มีเจตนาให้เขาเก่งกว่าเราเสมอไป กรณีที่เขายังไม่เก่ง เราก็เก่งแทนไปก่อน นี่คือ อุดมคติของลุง
จงอย่าปิดวิชาแก่ใครเลย การปิดวิชาหรือหวงวิชาไม่ให้ใครรู้นั้น เท่ากับปิดกั้นปัญญาตนเอง ลุงถ่ายทอดให้หมดเท่าที่ปัญญาของเขาเหล่านั้นจะรับได้ นี่คืออุดมคติของลุง ดังนั้น ขอพวกเราจงเรียนให้รู้เป็นครูเขา แล้วใครที่ไหนจะเป็นได้? ทุกอย่างเรียนกันได้ สอนกันได้ วิชาธรรมกายยากแสนยาก ลุงก็ขยายความให้ทุกหลักสูตรและทุกบทแล้ว วิชาปราบมารที่ว่ายากยิ่งนัก ลุงก็ทำมาแล้ว ทำมาคนเดียว ไม่มีใครช่วย ท่านทั้งหลายรู้เรื่องจากการอ่านหนังสือปราบมารมาแล้วทุกภาพ แต่ท่านที่ไม่สู้ ท่านที่เรียนครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่เอาจริง พบปัญหาท่านก็ถอดใจเสียแล้ว คนอย่างนั้นหลวงพ่อไม่ยกย่อง
บันทึกของคุณลุง
ลุงไม่คิดว่าลุงจะทำความสำเร็จในยุทธจักรวิชาธรรมกายได้ เพราะลุงก็มีกิเลสเหมือนท่านทั้งหลาย ลุงเป็นผู้ช้องโลก แต่ลุงมีเวรกรรม ที่ว่าเวรกรรมนั้น ลุงหมายความว่า ธาตุธรรมท่านใช้ให้ลุงปราบมาร ปราบมารเป็นงานทำยาก เท่าที่ลุงรู้ ยังไม่เคยมีใครชนะมารเลย เหตุใดมาเอาคนมีกิเลสอย่างลุง? ลุงตกใจมาก ลุงไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นเพราะธาตุธรรมท่านใช้ จำเป็นต้องเรียนรู้ จำเป็นต้องได้ เพราะถูกบังคับใช้ ลุงก็พูดตรง ๆ อย่างนี้ ลุงมารู้ตัวทีหลังตอนที่ลุงพบแม่ชีถนอม อาสไวย์ กล่าวถึงชีวิตของคุณลุงในตอนนั้น ลุงไปเรียนวิชากับแม่ชีถนอม ครั้งถึงคราวย้ายจากกัน วิชาของลุงดีขึ้น ธาตุธรรมท่านก็บอกให้ลุงรู้ เรื่องที่บอกก็คือ “รู้ไหมที่ให้มาเกิดก็เพื่อให้มาปราบมาร?” พอลุงได้ยินคำว่าปราบมาร ลุงก็ร้องไห้ทั้งที่ลุงอยู่ในนิโรธ ไม่ใช่น้ำตาไหลแต่กายมนุษย์เท่านั้น กระเทือนถึงกายธรรมด้วย ลุงจึงได้รู้ว่ากายธรรมก็เสียใจเป็นเหมือนกัน ไปปราบได้อย่างไร? เพราะลุงรู้โดยสัญชาตญาณของลุงเองว่า ไม่เคยมีใครชนะมาร แล้วคนอย่างเราจะไปมีน้ำยาอะไรเล่า เราเรียนวิชาธรรมกาย ก็เป็นการเรียนแบบสมัครเล่น เหมือนนักแสดงสมัครเล่นเท่านั้น ธาตุธรรมท่านมอบหน้าที่ให้ แต่ลุงไม่รับ เพราะลุงไม่มีความรู้ขนาดนั้น นี่คือ ความทรงจำที่ลุงจำได้ในปีนั้น
แต่แล้วลุงก็ต้องทำใจ เพราะธาตุธรรมท่านบังคับ ลุงจำเป็นต้องทำวิชาปราบมาร ทั้งที่ลุงไม่รู้อะไรกับเขา นี่แหละที่ลุงบอกแก่พวกเราว่า เป็นเวรเป็นกรรมของลุง ลุงต้องมาทำงานยาก ๆ มาถึงงานเขียนขยายความรู้วิชาธรรมกายของหลวงพ่อ 5 หลักสูตร ลุงจะไปรู้หมดได้อย่างไร? ในประวัติการเรียนวิชาธรรมกาย ยังไม่มีใครสามารถอธิบายได้ทุกบท รู้ได้เป็นบางบทนั้น เราเห็นอยู่แล้ว แต่จะให้อธิบายครบทุกบทเรียนทุกหลักสูตรนั้น ยังไม่มีใครทำได้? นี่คือความรู้ที่เราศึกษามาได้ แต่พอมาถึงยุคของลุง กลับเป็นว่า “ศึกษาฯ ต้องทำได้” ครั้งลุงลองอธิบายดู ลำดับไปทีละหลักสูตร เรียงบทเรียนไปเลยอย่าเว้น ปรากฎว่าทำได้ ไม่รู้ว่าทำไปได้อย่างไร? เมื่อทำแล้วจะต้องกลั่นตำราเป็นธาตุธรรมละเอียดตามความรู้วิชาธรรมกาย ไปถวายในอายตนะนิพพานด้วย เป็นพยานว่าทำได้แล้ว เพื่อเป็นพยายแก่ลุงด้วย ลุงก็จัดการแล้วต่อมาพบอีกงานหนึ่ง ทำไมที่สอนกันทั่วไปธรรมจึงไม่เกิด? ผู้คนเขาข้องใจกันทั้งบ้านทั้งเมือง เจอเข้าอีกงานหนึ่งแล้ว “ให้ศึกษาฯ ฝึกวิทยากรขึ้น แล้วส่งวิทยากรไปสอนตามโรงเรียน แล้วธรรมจะเกิด” ลุงก็ลองดู ปรากฏว่าธรรมเกิดแบบอัศจรรย์ นักเรียนเห็นธรรมยกชั้น สามเณรภาคฤดูร้อนที่โรงเรียนเขาจัดบวชนั้น เพียง 2 วันก็เห็นธรรมแบบยกรุ่น ก็ยังคิดอยู่ว่า หากโรงเรียนให้โอกาสสอน นักเรียนต้องเห็นธรรมยกโรงเรียน นี่คือหลักฐานที่เสนอต่อประชาชน เวลานี้โรงเรียนเกิดความสนใจ โรงเรียนเห็นคุณค่า แต่ลุงไม่มีวิทยากรให้เขา ฝึกเท่าก็ไม่พอใจ
ถวายเงินแก่หลวงพ่อ
อีกเรื่องหนึ่งที่ลุงดีใจ ก็คือลุงถวายเงินแก่หลวงพ่อ 20 บาท ในสมัยที่ลุงยังเป็นนักเรียนฝึกหัดครู สมัยที่ลุงเป็นนักเรียนฝึกหัดครูนั้น วันเสาร์วันอาทิตย์ลุงจะหาโอกาสไปวัดปากน้ำ ไปเรียนภาวนาตามแบบของหลวงพ่อ นักเรียนจะต้องมีเงินเก็บที่ครูผู้ปกครอง คนละ 100 บาททุกคน จะเบิกได้ครั้งละ 10 บาท ใครเบิกหมดไปแล้ว จะต้องนำมาฝากครูผู้ปกครองใหม่ ลุงจำได้ว่าเบิกเงินมาแล้วก็นำมาเก็บไว้ ยังไม่ได้ใช้ รวมไว้ได้ 20 บาท นำไปถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นเราแต่งตัว ก็ทราบว่าเราเป็นนักเรียนฝึกหัดครู เห็นเราควักเงินออกมาตรงเข้าไปถวายท่าน หลวงพ่อทำอย่างไร? ท่านอยากทราบ ลุงจะเล่าให้ทราบดังนี้ ครั้งแรกหลวงพ่อแสดงการลังเลใจ ทำท่าจะไม่รับเงิน จ้องมองดูลุงประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็ชี้มือให้เรานำไปมอบแก่ไวยาวัจกรของวัด ซึ่งลุงเสงี่ยมเป็นผู้ทำหน้าที่รับเงินและเขียนในปวารณาให้ ลุงก็นำไปปวารณานั้นมาถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อก็รับใบปวารณาแล้ว ลุงก็กราบท่านด้วยความดีใจ
ทำไมหลวงพ่อจึงคิดนาน? กว่าที่จะรับเงินจากเรา ท่านเห็นว่าเราเป็นนักเรียน จะมีเงินอะไรมาถวายท่าน? นั่นคือความคิดหนึ่ง แต่ในตอนที่ลุงมีอายุมาก ความคิดที่ว่านั้นไม่ถูกต้อง หลวงพ่อท่านมองเราแล้ว ก็ตรวจด้วยวิชาธรรมกายของท่าน เหตุใดพ่อหนูคนนี้เอาเงินมาถวายท่าน? มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือ? ต่อเมื่อหลวงพ่อทราบความชัดแล้ว จึงตัดสินใจรับเงิน 20 บาทของลุง ค่าของเงิน 20 ในสมัยนั้น นับว่ามีค่ามากอยู่ หากหลวงพ่อไม่รับเงินจากลุง ลุงเสียใจแน่นอน เพราะเราตั้งใจไว้นานแล้ว อุตส่าห์เก็บไว้กว่าจะได้ 20 บาท ต้องไปโกหกครูผู้ปกครอง อ้างความจำเป็นที่ต้องเบิกเงิน ครูผู้ปกครองรู้ไม่ทันการโกหกของเรา อนุญาตให้เราเบิกเงินตามที่เราอ้าง จึงได้เงิน 20 บาทมาเก็บรวมไว้ หากหลวงพ่อไม่รับเงินจากลุง ลุงเสียใจแน่นอน แปลว่าลุงได้ร่วมบารมีกับหลวงพ่อแล้ว หากลุงไม่ถวาย ลุงจะไม่ได้บารมีอะไรเลย เพราะจะรอให้เราออกรับราชการ มีเงินเดือนก็มาถวายได้ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ไม่มีความแน่นอนอะไร? ครั้นเหตุการณ์ผ่านมานานปีถึงสมัยที่ลุงเรียนจบและรับราชการแล้ว ได้พบแม่ชีถนอม อาสไวย์ แม่ชีเล่าว่าแม่ชีเป็นหัวหน้าเวร หลวงพ่อให้เงินเดือนๆละ 300 บาท แม่ชีถนอมบอกว่าพยายามเก็บรวมไว้ พอครบจำนวนแล้ว แม่ชีรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระทันที เราได้สร้างโอกาสบารมีแล้วจะเก็บเงินไว้ทำไม่? โอกาสสร้างบารมีไม่ใช่หาได้ง่าย ๆ มีจังหวะแล้วให้ทำทันที หลวงพ่อก็ทำเป็นตัวอย่างให้เราดูอยู่แล้ว พอแม่ชีเล่าถึงตรงนี้ ทำให้ลุงระลึกถึงเรื่องลุงถวายเงิน 20 บาทแก่หลวงพ่อขึ้นได้ จึงนำมาเล่าให้พวกเราฟัง
เอาเรื่องนี้มาเล่า มีวัตถุประสงค์อะไรหรือ? วัตถุประสงค์ก็คือ วันนี้ลุงได้ข้อคิด ข้อคิดนั้นคืออะไร? ข้อคิดนั้นคือ เราได้สร้างบารมีกับหลวงพ่อตั้งแต่ครั้งเราเป็นหนุ่ม บารมีนี้จะช่วยให้เราไม่พลัดกับหลวงพ่อ เพราะหลวงพ่อเป็นผู้มีธรรมอันยิ่งใหญ่ ท่านไม่ใช่พระสงฆ์ธรรมดา พระสงฆ์ธรรมดาจะมาค้นคว้าวิชาธรรมกายได้อย่างไร? หลวงพ่อทำวิชาปราบมาร นี่คือข้อมูลที่เราเรียนรู้มาได้ คนบารมีธรรมดาจะปราบมารไม่ได้ ความรู้ปราบมารเป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าภาคปราบ ไม่ใช่ความรู้ของพระพุทธเจ้าภาคโปรด เราพบแต่พระพุทธเจ้าภาคโปรดมาตลอด ไม่พบพระพุทธเจ้าภาคปราบเลย เพราะพระพุทธเจ้าภาคปราบหายากมาก นั่นเอง ดังนั้น เมื่อเกิดมาพบหลวงพ่อแล้วถือว่ามีบุญมาก ควรทำอะไรไว้กับท่านให้พร้อม เป็นบารมีสำคัญที่หาโอกาสยากมาก ลุงได้บวชเณรถวายหลวงพ่อนั้น ลุงคิดถูกแล้ว อะไรมาดลใจให้ลุงต้องทำอย่างนั้น? ทั้งที่ตอนนั้นลุงมีอายุ 24 ปี เป็นข้าราชการชั้นตรีแล้ว ดังที่เคยเล่ามาแล้วนั้น หากลุงบวชพระเรื่องจะยาวความ ใคร ๆ ต้องมายุ่งกับลุงหลายคน เรื่องราวจะไปกันใหญ่ อีกทั้งเป็นข้าราชการ จะต้องไปปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอีกต่างหาก ยุ่งยากซับซ้อนมาก จึงเอาแค่บวชเณรนั้นดีแล้ว ง่ายดี สะดวกดี ไม่ต้องมีใครมาเดือดร้อนกับเรามาก ทุกอย่างเสร็จเร็วเรียบง่าย เกิดความโล่งอกโล่งใจแก่เรา เราบวชแค่ 7 วันเท่านั้น เดี๋ยวก็ลาสิกขาแล้ว นี่คือประวัติที่ดีงาม ที่ลุงทำถวายแก่หลวงพ่อ ในโอกาสที่หลวงพ่อมรณภาพ ขอให้พวกเราคิดไว้เสมอว่า จงทำประวัติของเราให้ดี อย่าให้ประวัติเสียเป็นอันขาด เพราะคนเราดีที่ประวัติ ต้องพยายามรักษาประวัติของเราไว้อย่าให้มีอะไรมาด่างพร้อย
ศึกษาธิการอำเภอป่าโมก
ตำแหน่งราชการคือศึกษาธิการอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง (2514-2522) ได้พบแม่ชีถนอม อาสไวย์ แม่ชีได้ปรับปรุงความรู้วิชาธรรมกายให้ใหม่ บอกว่าวิชาที่เรียนมาจากแม่ชีทองสุข ยังคาบลูกคาบดอก แต่แรกลุงเกิดความไม่พอใจ เพราะมีทิฏฐิ เนื่องจากเรียนมานาน ท่านขอร้องให้ลุงเดินวิชา 18 กายตามแบบที่หลวงพ่อท่านสอน โดยท่านเป็นคนบอกวิชา แล้วให้เราทำตาม
แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝันเกิดขึ้น นั่นคือเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง เชิญให้ไปเป็นวิทยากรถวายความรู้การฝึกภาวนาตามแบบวิธีของหลวงพ่อ โดยที่พระเดชพระคุณทราบมาอย่างไรไม่ทราบ ว่าลุงเคยฝึกภาวนาตามแบบหลวงพ่อวัดปากน้ำ การประชุมพระสงฆ์มีจำนวน 15 วัน 15 คืน เรียกว่างานปริวาสกรรม ในตอนบ่ายลุงมีหน้าที่ไปบรรยายถวายความรู้ตามตารางอบรม ปรากฏว่ามีพระสงฆ์กำหนดดวงธรรมได้ และลุงบอกวิชาให้ท่านเดินวิชา 18 กายได้ ซึ่งวิชา 18 กายนี้เป็นไปตามหนังสือ “ทางมรรคผล” ของหลวงพ่อ หรือที่เราเรียกเป็นที่เข้าใจว่าวิชา 18 กายเบื้องต้น นั่นเอง หนังสือนี้ลุงไปขอเช่าจากวัดปากน้ำ นำมาถวายแก่พระสงฆ์ที่มาประชุม ลุงดีใจมากที่บอกวิชาให้ท่านทำวิชา 18 กายได้ เหตุผลที่ทำได้ เป็นเพราะแม่ชีถนอมขอร้องให้ลุงลองเดินวิชาดู โดยท่านเป็นผู้บอกวิชา เราเป็นผู้ทำตามได้เพียงไม่กี่วัน แล้วก็มาพบเหตุการณ์ที่ลุงจะต้องไปถวายความรู้แก่พระสงฆ์ การที่ลุงบอกวิชาให้พระสงฆ์ทำได้นั้น เป็นความดีใจของลุง ส่งผลให้ลุงลดทิฏฐิ เมื่อลดทิฏฐิได้แล้ว แม่ชีพูดวิชาอะไร? เราก็ฟังโดยใคร่ครวญทันใด เปรียบเทียบความรู้เดิมที่ลุงเรียนมาจากแม่ชีทองสุข ว่ามีความต่างกันตรงไหน? อย่างไร? เป็นการปูพื้นฐานความรู้กันใหม่ เรียกว่ายกร่างกันใหม่ทีเดียว
ลุงทำราชการที่อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นเวลา 8 ปี ได้เรียนรู้วิชาธรรมกายจากแม่ชีถนอม ทำให้ลุงมีความรู้ทางวิชาธรรมการที่ถูกต้อง ความรู้เดิมที่เพี้ยนก็แก้ไขใหม่ทั้งหมด สรุปแล้วการมาเป็นศึกษาธิการอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ลุงมีความรู้ทางวิชาธรรมกายหลายอย่าง ดังนี้
(1.) แก้โรคได้ จำได้ว่าคนที่หายโรค ได้นำเงินจำนวนหนึ่งมาให้ลุง ลุงก็นำไปสร้างห้องน้ำให้แก่แม่ชีถนอม เพราะแม่ชีถนอมมีเด็กสาว ๆ มาบวชอยู่หลายคน หากห้องน้ำไม่พอใช้ จะขลุกขลัก อีกส่วนหนึ่งไปขยายห้องครัวลุงยังจำได้ไม่ลืม
(2.) ความรู้วิชาธรรมกายเท่าที่ฟังจากแม่ชีถนอม ทำให้ลุงอ่านตำราวิชาธรรมกายของหลวงพ่อทุกหลักสูตรได้เข้าใจตลอด นับว่าลุงโชคดี ต่อมาลุงสามารถอธิบายวิชาธรรมกายได้ทุกหลักสูตร และอธิบายได้ทุกบท ได้เขียนขยายความรู้วิชาธรรมกายให้ทุกหลักสูตรแล้ว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ หากไม่ทำอย่างนี้ วิชาธรรมกายก็สูญไปต่อหน้าต่อตาเรา เพราะวิชาธรรมกายยากเหลือเกิน เกินกว่าคนอย่างเราจะเรียนได้ ทุกคนปรารภกับลุง วิชาธรรมกายเป็นความรู้สูงสุดในพระศาสนา ยากที่ใครจะเรียนได้ และการเรียนนั้นยากมากเสียด้วย ที่ว่ายากก็คือ ความรู้ของเราเพี้ยนไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ท่านที่ไม่อ่านตำราเพื่อตรวจสอบความรู้ไว้เสมอ นั่นคือความล้มเหลวที่ลุงได้พบในบัดนี้ ถือว่าหลวงพ่อเคยสอนไว้อย่างนี้ เคยเรียนไว้อย่างนี้ แต่ไม่สอบความรู้กับตำรา นั่นคือความล้มเหลวที่ลุงได้พบ จงดูเวลานี้มีใครตรวจคนตายได้? หมดผู้รู้แล้ว ถามว่าเวลานี้มีใครแก้โรคได้บ้าง? ตอบทันทีว่าไม่มี เอาแค่สอนเบื้องต้นให้เป็นวิชา 18 กาย ก็หาคนทำไม่ได้แล้ว จริงอยู่ท่านสอนให้เขาทำ แต่เกจิอาจารย์ไม่ประสีประสาเลย ก็ได้แต่สอนไปอย่างนั้น พอวัดผลดู ปรากฏว่าไม่ได้ผล แม้หลักสูตรเบื้องต้นท่านก็ไม่ได้ความแล้ว แล้วหลักสูตรคู่มือสมภาร หลักสูตรวิชชามรรคผลพิสดาร 1 หลักสูตรมรรคผลพิสดาร 2 ก็ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครมีความรู้วิชาธรรมกายหลักสูตรเหล่านี้เลย น่าเสียใจจริง ๆ มาถึงหลักสูตรปราบมาร ก็ต้องว่าไม่มีใครรู้เรื่องแล้ว ได้ยินว่ามีใครอ้างว่าปราบมาร แต่ไม่มีวิทยานิพนธ์เสนอประชาชน แล้วเราจะเชื่อได้อย่าไร? น่าละอายแก่ใจ พิมพ์เหรียญที่ระลึกว่าเหรียญปราบมาร น่าละอายมาก
การทำราชการของลุงที่อำเภอป่าโมก ทำให้ลุงเผยแพร่วิชาธรรมกายตลอดมา อำเภอนี้เป็นอำเภอจุดประกาย คือพระสงฆ์ท่านมาเชิญลุงไปสอนท่านที่เชิญคนแรก คือเจ้าคณะจังหวัดอ่างทอง เสร็จงานของท่านเจ้าคณะจังหวัดแล้ว ตั้งแต่วันนั้นมาก็ไม่ได้หยุด ไปสอนกันไม่เลิกทีเดียว ออกจากจังหวัดนี้ไปต่อจังหวัดนั้น เป็นเวลายาวนานทีเดียว เหมือนหนึ่งธรรมชาติบังคับว่าต้องเชิญลุง ลุงจึงรู้จักจังหวัดต่าง ๆ หลายจังหวัด เกิดประสบการณ์ในการสอนมาก เพราถวายความรู้แก่พระสงฆ์มานานปี สมัยนั้นไม่มีใครสอนเลย ลุงไปสอนคนเดียว ได้นำความรู้และเทคนิควิธีการสอนเบื้องต้น มาถ่ายทอดแก่วิทยากรรุ่นใหม่ มอบหมายให้ไปสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ วัดผลการสอนแล้ว ปรากฏว่ามีนักเรียนเห็นธรรมกันแบบ “อัศจรรย์” ทีเดียว ได้ผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ครูอาจารย์เขาโจษขานกันมาก เพราะครูอาจารย์เขามาสังเกตการณ์งานสอนของวิทยากร เขาเรียกนักเรียนมาตรวจสอบ เขาเรียกนักเรียนมาสอบถาม ขณะนี้โรงเรียนต่างๆ ในกรุงเทพให้ความนับถือวิทยากรของลุงมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิชาธรรมกายหลักสูตรใด? ลุงสอนได้ทั้งนั้น
>>> อ่านชีวประวัติเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือปุจฉาวิสัชชนา – วิชชาธรรมกาย หน้า 461